ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ OSA ภัยเงียบที่อาจทำร้ายคุณ ถึงชีวิต!

“กรนเสียงดัง นอนเท่าไหร่ก็ไม่สดชื่น ตื่นมาปวดหัว และง่วงทั้งวัน” อาการเหล่านี้อาจไม่ใช่แค่ความเหนื่อยล้าสะสม แต่เป็นสัญญาณเตือนของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea – OSA) โรคที่หลายคนมองข้าม ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต

ใครที่สงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเข้าข่าย ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดกับแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ เพราะหากสามารถตรวจวินิจฉัยและรับการการรักษาได้เร็วก็จะลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนที่จะตามมาได้

ในบทความนี้ เราจะพาคุณมาทำความเข้าใจว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดจากอะไร ความเสี่ยง สาเหตุมีอะไรบ้าง และมีโรคอะไรที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้คุณเช็กสุขภาพการนอนตัวเองได้ง่ายขึ้น

Table of Contents

ทำความรู้จักภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) คืออะไร?

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) คือ ภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณลำคอและทางเดินหายใจส่วนบนเกิดการหย่อนตัวมากเกินไป ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบหรือปิดสนิทเป็นช่วง ๆ ส่งผลให้การหายใจหยุดชะงักไปชั่วขณะ โดยมักเกิดซ้ำ ๆ หลายสิบครั้ง หรือในบางคนอาจเกิดขึ้นเป็นร้อยครั้งตลอดคืน ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองหยุดหายใจขณะหลับ

เมื่อร่างกายขาดออกซิเจนจากการหยุดหายใจ สมองจะสั่งให้ร่างกายตื่นตัวชั่วขณะเพื่อกลับมาหายใจอีกครั้ง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสะดุ้ง ตื่นบ่อย หรือกรนเสียงดังในช่วงเวลานั้น การหยุดหายใจสลับกับการตื่นตัวแบบนี้ตลอดคืนส่งผลให้การนอนหลับไม่มีคุณภาพ หลับไม่ลึก ตื่นมาไม่สดชื่น และเกิดอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีอาการอย่างไร?

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) มักเริ่มต้นจากอาการที่หลายคนมองข้าม เช่น การกรนเสียงดังผิดปกติ หรือรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งที่ได้นอนเต็มอิ่ม อาการของภาวะนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้มากกว่าที่คิด หากคุณมีอาการเหล่านี้บ่อยครั้ง อาจเป็นสัญญาณเตือนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

 

อาการที่พบบ่อยของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

  • กรนเสียงดังต่อเนื่องทุกคืน
  • หยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ระหว่างนอนหลับ
  • สะดุ้งตื่นกลางดึก หายใจไม่ออก หรือหายใจเฮือก
  • ตื่นนอนแล้วรู้สึกไม่สดชื่น มีอาการมึนหัว หรือปวดหัวตอนเช้า
  • ง่วงมากผิดปกติในช่วงกลางวัน จนเสียสมาธิในการทำงานหรือขับรถ
  • ตื่นบ่อยกลางดึก โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการหายใจไม่สะดวกเวลานอน รู้สึกเหมือนอึดอัดบริเวณหน้าอก

หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกันหลายข้อ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วย Sleep test เพื่อค้นหาสาเหตุและรับการดูแลอย่างถูกต้องก่อนที่โรคจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

โรคอื่นที่มีอาการคล้ายภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ถึงแม้ว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) จะเป็นสาเหตุหลักของอาการกรนเสียงดัง และหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ แต่ความจริงแล้วยังมีอีกหลายโรคและหลายภาวะที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกันได้ จนอาจทำให้เข้าใจผิดหรือได้รับการวินิจฉัยผิดพลาด ดังนั้นการแยกแยะโรคที่มีอาการใกล้เคียงจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ได้รับการดูแลและรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคหรือภาวะที่มักมีอาการคล้ายภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งได้แก่

  • โรคนอนกรนธรรมดา (Primary Snoring)
    เป็นภาวะที่เกิดจากการสั่นของเนื้อเยื่อในลำคอขณะนอนหลับ ทำให้กรนเสียงดังคล้ายกับ OSA แต่ไม่พบการหยุดหายใจหรือภาวะขาดออกซิเจนร่วมด้วย และมักไม่มีอาการง่วงผิดปกติในช่วงกลางวัน
  • โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
    คนที่มีปัญหานอนไม่หลับมักหลับยาก ตื่นกลางดึกบ่อย หรือหลับไม่ลึก ส่งผลให้รู้สึกง่วงและอ่อนเพลียในช่วงกลางวันคล้ายกับ OSA แต่ไม่มีปัญหาเรื่องการอุดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งในบางกรณีโรคนอนไม่หลับอาจเกิดจากความกังวลหรือความเครียด
  • โรคแพนิค (Panic Disorder)
    ผู้ป่วยอาจมีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หรือสะดุ้งตื่นกลางดึก อาการเหล่านี้อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่ความจริงแล้วมักเกิดจากความวิตกกังวลและความเครียดสะสมมากกว่า
  • โรคกรดไหลย้อน (GERD)
    อาการแสบร้อนกลางอก แน่นหน้าอก ไอเรื้อรัง หรือสำลักในตอนกลางคืนอาจรบกวนการนอนหลับ ทำให้รู้สึกไม่สดชื่นเมื่อตื่นขึ้นมา ซึ่งอาการเหล่านี้คล้ายกับผลกระทบที่เกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • โรคอ้วนร่วมกับภาวะหายใจลำบาก (Obesity Hypoventilation Syndrome – OHS)
    มักเกิดในคนที่มีน้ำหนักตัวมาก ทำให้หายใจตื้นและช้าลงขณะหลับ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เกิดอาการง่วงและอ่อนเพลียได้คล้ายกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ภาวะง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน (Excessive Daytime Sleepiness)
    แม้อาการง่วงมากในเวลากลางวันจะเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน เช่น การทำงานกะกลางคืน การเดินทางบ่อย ความเครียดจากปัญหาส่วนตัว หรือภาวะผิดปกติทางร่างกาย เช่น ไทรอยด์ทำงานต่ำ

ด้วยความหลากหลายของโรคและภาวะที่มีอาการคล้ายคลึงกัน การวินิจฉัยจึงต้องอาศัยการตรวจอย่างละเอียด เช่น การตรวจ Sleep test เพื่อช่วยแยกความแตกต่างของโรคแต่ละชนิดอย่างชัดเจน และวางแผนการรักษาให้ตรงจุดที่สุด

ความสัมพันธ์ระหว่างการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

การกรนเป็นสัญญาณเริ่มต้นของทางเดินหายใจแคบ

เสียงกรนเกิดจากการสั่นของเนื้อเยื่อในลำคอ เช่น ลิ้นไก่และเพดานอ่อน เนื่องจากลมหายใจผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง หากทางเดินหายใจแคบมากขึ้นจากการกรน ก็อาจพัฒนาไปสู่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ในที่สุด

การหยุดหายใจขณะหลับมักเกิดร่วมกับการกรนเสียงดัง

ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมักกรนเสียงดัง สม่ำเสมอ และเป็นประจำทุกคืน ช่วงที่ทางเดินหายใจอุดตันเต็มที่ เสียงกรนจะเงียบลง เพราะอากาศไม่สามารถผ่านได้เลย หลังจากนั้นจะมีเสียงสะดุ้งเฮือกหรือหายใจแรง ๆ เพื่อดึงอากาศเข้าอีกครั้ง

ไม่ใช่ทุกคนที่กรนจะเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่คนที่เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับส่วนใหญ่จะกรน

หากกรนเบา ๆ เป็นบางวัน เช่น วันที่เหนื่อยมาก หรือดื่มแอลกอฮอล์ อาจไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้ากรนเสียงดัง กรนทุกคืน มีเสียงกรนแปรปรวน สลับเงียบ แล้วสะดุ้งหายใจแรง ๆ แบบนี้ควรไปตรวจเช็ก เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

อันตรายจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะเรื่องการนอนหลับเท่านั้น  แต่ยังทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจแย่ลงอย่างเงียบ ๆ เพราะทุกครั้งที่หยุดหายใจ ร่างกายจะขาดออกซิเจนชั่วคราว ส่งผลให้ต้องสะดุ้งตื่นบ่อย ๆ ตลอดคืน นอนหลับไม่เต็มที่ และเสี่ยงเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาแบบไม่รู้ตัว อันตรายจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ไม่ควรมองข้าม เช่น

  • เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
    ร่างกายที่ขาดออกซิเจนบ่อย ๆ จะกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจล้มเหลว
  • ความดันโลหิตสูง
    ภาวะหยุดหายใจขณะหลับทำให้ร่างกายหลั่งสารกระตุ้นความเครียดออกมามากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน
  • โรคหลอดเลือดสมอง
    การหยุดหายใจซ้ำ ๆ ทำให้สมองได้รับออกซิเจนน้อยลง เพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน หรืออัมพฤกษ์ อัมพาตได้
  • เบาหวานชนิดที่ 2
    การนอนหลับไม่เพียงพอและร่างกายขาดออกซิเจนทำให้ระบบเผาผลาญเสียสมดุล ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน
  • อุบัติเหตุจากการหลับใน
    เพราะภาวะนี้ทำให้เกิดอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ส่งผลให้สมาธิลดลง เผลอหลับง่ายระหว่างขับรถหรือทำงานที่ต้องใช้ความระมัดระวังสูง
  • ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ
    การนอนไม่พอจากการหยุดหายใจขณะหลับเรื้อรังอาจทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น เพราะสมองไม่ได้พักผ่อนเต็มที่

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการกรนเสียงดัง หรือความง่วงในตอนกลางวันเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายแรงที่คาดไม่ถึง

การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ และสุขภาพโดยรวมของแต่ละคน ซึ่งเป้าหมายหลักคือการช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ลดการหยุดหายใจขณะหลับ และทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้เต็มอิ่ม ลดอาการง่วงในช่วงกลางวัน โดยวิธีการรักษาที่ใช้บ่อยมีดังนี้

  • ปรับพฤติกรรมการนอนและดูแลสุขภาพ
    วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงมาก เช่น
    • ลดน้ำหนัก หากน้ำหนักตัวมาก
    • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะก่อนนอน
    • หลีกเลี่ยงยานอนหลับหรือยากดประสาท
    • เปลี่ยนท่านอน เช่น เลี่ยงการนอนหงาย เพราะอาจทำให้ทางเดินหายใจตีบมากขึ้น
  • ใช้เครื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure)
    เป็นเครื่องช่วยหายใจที่ปล่อยแรงดันลมคงที่ผ่านหน้ากากขณะนอนหลับ ช่วยเปิดทางเดินหายใจให้โล่งตลอดคืน ลดการหยุดหายใจ และทำให้นอนหลับสนิทมากขึ้น ถือเป็นวิธีมาตรฐานและได้ผลดีที่สุดสำหรับการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ OSA
  • ใส่เครื่องมือขยายขากรรไกร (Oral Appliance)
    เป็นอุปกรณ์ที่ใส่ในปากขณะนอนหลับ เพื่อช่วยดันขากรรไกรหรือลิ้นให้อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ขวางทางเดินหายใจ เหมาะกับคนที่มีอาการระดับน้อยถึงปานกลาง หรือผู้ที่ไม่สะดวกใช้ CPAP
  • การผ่าตัด
    กรณีที่สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับมาจากความผิดปกติของโครงสร้างในลำคอ เช่น ต่อมทอนซิลโต ลิ้นไก่ยาว หรือโพรงจมูกตีบ การผ่าตัดจะช่วยแก้ไขปัญหาและเปิดทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น
  • รักษาโรคร่วมอื่น ๆ
    เช่น โรคอ้วน เบาหวาน หรือโรคกรดไหลย้อน เพราะโรคเหล่านี้อาจทำให้อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับแย่ลงได้

การเลือกวิธีรักษาควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางการนอนหลับ เพื่อประเมินอาการอย่างละเอียด และบางกรณีอาจต้องตรวจ Sleep test เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและวางแผนการรักษาให้ตรงจุดมากที่สุด

หยุดหายใจขณะหลับ…ควรรีบรักษา ก่อนเสี่ยงสุขภาพพัง

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) เป็นปัญหาที่มากกว่าแค่การกรน เพราะส่งผลให้หายใจติดขัดหรือต้องหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ จนทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เสี่ยงเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อุบัติเหตุจากการหลับใน รวมถึงปัญหาอารมณ์และความเครียดที่ตามมา หากคุณเริ่มสังเกตว่าตัวเองง่วงมากผิดปกติระหว่างวัน ตื่นมาไม่สดชื่น หรือมีคนทักว่าเวลานอนกรนเสียงดังและสะดุ้งตื่นบ่อย อาจถึงเวลาที่ต้องเช็กสุขภาพการนอนหลับอย่างจริงจัง

การเข้ารับการตรวจวิเคราะห์การนอนหลับจากผู้ชำน่าญการเฉพาะทางจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะช่วยให้เข้าใจสาเหตุและหาวิธีแก้ไขได้ตรงจุด เพราะการนอนหลับที่ดีคือพื้นฐานของสุขภาพที่ดี  ที่ Bangkok Sleep Center ให้บริการตรวจวิเคราะห์การนอนหลับและดูแลรักษาความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการนอน เพื่อช่วยค้นหาสาเหตุของปัญหาและคืนสมดุลให้กับการนอนหลับอีกครั้ง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เราจะรู้ได้ไงว่าหยุดหายใจขณะหลับ?

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับสังเกตได้จากกรนเสียงดัง สลับกับการหยุดหายใจ ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น ง่วงมากระหว่างวัน พบได้มากในคนอ้วน คอหนา หรืออายุ 40 ปีขึ้นไป หากมีอาการควรตรวจ Sleep Test เพื่อวินิจฉัยและรักษา

หยุดหายใจกี่นาทีถึงจะเสียชีวิต?

โดยทั่วไป หากหยุดหายใจนานเกิน 4-6 นาที สมองจะเริ่มขาดออกซิเจนจนเกิดความเสียหายถาวร และหากเกิน 10 นาที มีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิตได้ 

แต่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมักหยุดหายใจแค่ไม่กี่วินาทีถึง 1 นาที ซึ่งไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ถ้าเป็นบ่อยและนานขึ้นก็เพิ่มความเสี่ยงโรคร้ายแรง เช่น หัวใจล้มเหลวหรือเส้นเลือดสมองตีบได้ในระยะยาว

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เกิดจากอะไร?

เกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบหรืออุดตันขณะหลับ เพราะกล้ามเนื้อในลำคอหย่อนตัวมากเกินไป ทำให้ลิ้นและเนื้อเยื่อรอบคอปิดกั้นทางเดินหายใจ สาเหตุหลักมักมาจากน้ำหนักเกิน คอหนา โครงสร้างใบหน้าแคบ อายุที่มากขึ้น หรือการดื่มแอลกอฮอล์ และยานอนหลับที่ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวมากผิดปกติ

โรคอะไรที่เป็นอาจสาเหตุของการหยุดหายใจ?

  • โรคอ้วน – ไขมันรอบคอทำให้ทางเดินหายใจแคบ
  • ต่อมทอนซิลโต – อุดกั้นทางเดินหายใจ (พบบ่อยในเด็ก)
  • กรดไหลย้อน – กระตุ้นการบวมและระคายเคืองทางเดินหายใจ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง – กล้ามเนื้อคอทำงานน้อยลง
  • หัวใจล้มเหลว – รบกวนการควบคุมจังหวะหายใจ
  • ไทรอยด์ต่ำ – กล้ามเนื้ออ่อนแรงและทางเดินหายใจบวม
  • โรคหลอดเลือดสมอง – ส่งผลต่อศูนย์ควบคุมการหายใจในสมอง

บทความอื่นๆ

เหงื่อออกขณะหลับ สัญญาณเตือน เสี่ยงโรค?

เหงื่อออกขณะหลับ สัญญาณเตือน เสี่ยงโรค?

ใครที่เคยนอนตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะรู้สึกร้อน ที่นอนชุ่มไปด้วยเหงื่อ ทั้งที่ห้องนอนก็อุณหภูมิเย็นฉ่ำ หันไปมองคนข้างๆ ก็นอนได้ปกติไม่มีเหงื่อไหล อาการแบบนี้เรียกว่า เหงื่อออกตอนกลางคืน

อ่านเพิ่มเติม
Shopping Basket