เราอยากให้ทุกคนมีสุขภาพการนอนที่ดี

กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์

ความรู้สึกง่วงแต่พอหัวถึงหมอนกลับนอนไม่หลับ สมองคิดวนไปมา หรือตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นชั่วคราวจากความเครียดหรือพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ แต่หากเกิดบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณของ โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ทำให้สมาธิลดลง อารมณ์แปรปรวน และเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในระยะยาว

การแก้ไขปัญหานี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น ปรับพฤติกรรมการนอน ลดความเครียด และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการหลับ หากอาการยังคงรบกวนการใช้ชีวิต อาจต้องเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางการนอนหลับ มาเรียนรู้วิธีจัดการกับโรคนอนไม่หลับ เพื่อให้คุณกลับมานอนหลับได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง

Table of Contents

ทำความรู้จักโรคนอนไม่หลับ คืออะไร?

โรคนอนไม่หลับ หรือ insomnia คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ แม้ว่าจะมีเวลาหรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม อาการของโรคนี้อาจเป็น หลับยาก ตื่นกลางดึก หลับต่อไม่ได้ ตื่นเร็วเกินไป หรือเมื่อตื่นมาแล้วยังรู้สึกไม่สดชื่น

ประเภทของโรคนอนไม่หลับ

  • ภาวะนอนไม่หลับชั่วคราว – เกิดขึ้นเป็นระยะสั้นจากความเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
  • ภาวะนอนไม่หลับเรื้อรัง – เกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างน้อย 3 คืนต่อสัปดาห์ นานกว่า 3 เดือน
  • ภาวะนอนไม่หลับปฐมภูมิ – ไม่มีโรคอื่นเป็นสาเหตุโดยตรง มักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการนอนและความเครียด
  • ภาวะนอนไม่หลับทุติยภูมิ – เกิดจากโรคประจำตัว เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือผลข้างเคียงจากยา

โรคนอนไม่หลับอาจส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจ หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะอ่อนเพลีย สมาธิลดลง เสี่ยงโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงได้ หากมีอาการเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

โรคนอนไม่หลับ มีอาการอย่างไร?

  • หลับยาก – ใช้เวลานานกว่าจะหลับ แม้จะรู้สึกง่วง
  • ตื่นกลางดึก – สะดุ้งตื่นบ่อย หลับต่อได้ยาก
  • ตื่นเร็วเกินไป – นอนไม่เต็มอิ่ม แต่ไม่สามารถหลับต่อได้
  • นอนแล้วไม่สดชื่น – รู้สึกอ่อนเพลียแม้นอนครบชั่วโมงที่ควร
  • ง่วงนอนระหว่างวัน – อ่อนล้า ไม่มีแรง สมาธิลดลง
  • หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน – อาจส่งผลต่อสุขภาพจิต
  • ปวดหัว เวียนหัว – จากการพักผ่อนไม่เพียงพอ

โรคอื่นที่มีอาการคล้ายอาการโรคนอนไม่หลับ

อาการของโรคนอนไม่หลับ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจากปัจจัยภายนอก เช่น ความเครียด หรือพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติเท่านั้น แต่อาจเป็นผลมาจากโรคหรือภาวะทางสุขภาพอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการหลับ หากคุณมีปัญหานอนไม่หลับเป็นประจำและไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย ควรตรวจสอบว่าอาการเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับโรคอื่น ๆ หรือไม่

  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) – ตื่นบ่อยจากการหยุดหายใจ หลับไม่สนิท อ่อนเพลียตอนเช้า
  • โรคซึมเศร้า (Depression) – นอนหลับยาก ตื่นเช้าเกินไป หรือหลับมากแต่ไม่สดชื่น อารมณ์แปรปรวน
  • โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) – คิดฟุ้งซ่าน ใจสั่น นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึกบ่อย
  • โรคไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) – ร่างกายเผาผลาญสูงขึ้น กระสับกระส่าย หัวใจเต้นเร็ว
  • โรคพาร์กินสัน – กล้ามเนื้อกระตุก ฝันร้าย เคลื่อนไหวผิดปกติขณะหลับ
  • โรคกรดไหลย้อน (GERD) – แสบร้อนกลางอกเมื่อนอนราบ ทำให้ตื่นกลางดึกบ่อย
  • โรคหัวใจและความดันโลหิตสูง – หายใจลำบาก แน่นหน้าอก รบกวนการนอน
  • ภาวะเครียดและแพนิค – หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น สะดุ้งตื่นกลางดึก อาจมีอาการแพนิคร่วม

หากอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

สาเหตุปัจจัยของโรคนอนไม่หลับ เกิดจากอะไร?

ปัจจัยทางจิตใจและอารมณ์

  • ความเครียด วิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า ทำให้สมองตื่นตัวก่อนนอน นอนหลับยากขึ้น
  • ความกดดันจากงาน การเงิน หรือปัญหาส่วนตัว อาจส่งผลต่อคุณภาพการนอน

พฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม

  • การใช้โทรศัพท์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน ทำให้สมองไม่ผ่อนคลาย
  • การนอนผิดเวลา เปลี่ยนเวลานอนบ่อย หรืออดนอนสะสม
  • การดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ก่อนนอน

ปัญหาสุขภาพและโรคประจำตัว

  • จากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ทำให้ตื่นกลางดึก
  • จากโรคไทรอยด์ โรคซึมเศร้า หรือโรคของระบบประสาท ซึ่งส่งผลต่อการนอน
  • จากโรคกรดไหลย้อน หรือโรคปอด ทำให้รู้สึกไม่สบาย หรืออึดอัด เมื่อนอนราบ

ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม

  • ห้องนอนที่ไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิไม่สบาย เสียงรบกวน หรือแสงจ้าเกินไป
  • เตียงและหมอนไม่รองรับสรีระ ทำให้นอนไม่สบาย

ปัญหาจากนาฬิกาชีวิต (Circadian Rhythm Disruption)

  • การเดินทางข้ามโซนเวลา (Jet Lag) หรือการทำงานเป็นกะ (Shift Work)
  • นาฬิกาชีวภาพถูกรบกวน ส่งผลให้หลับยากและตื่นผิดเวลา

โรคนอนไม่หลับ และ โรคซึมเศร้า ต่างกันยังไง?

แม้ว่าโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) และ โรคซึมเศร้า (Depression) จะมีความเกี่ยวข้องกันและอาการบางอย่างคล้ายกัน แต่ทั้งสองโรคนี้มีสาเหตุและผลกระทบที่แตกต่างกัน เช่น

  1. สาเหตุของโรค
  • โรคนอนไม่หลับ – เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ความเครียด นาฬิกาชีวภาพผิดปกติ พฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม หรือโรคทางกายที่รบกวนการนอน
  • โรคซึมเศร้า – เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง รวมถึงปัจจัยด้านจิตใจ เช่น ความเครียดสะสม หรือปัญหาทางอารมณ์
  1. ลักษณะของอาการ
  • โรคนอนไม่หลับ – มีอาการหลับยาก ตื่นกลางดึก หลับต่อไม่ได้ แต่เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว อารมณ์อาจปกติหรือแค่รู้สึกอ่อนเพลีย
  • โรคซึมเศร้า – มักมีปัญหาการนอนร่วมกับอาการอื่น เช่น ขาดความสนใจในสิ่งรอบตัว อารมณ์ซึมเศร้า หดหู่ ขาดแรงจูงใจ และรู้สึกหมดหวัง
  1. ความสัมพันธ์กัน
  • คนที่เป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้า เพราะการพักผ่อนไม่เพียงพอส่งผลต่อสมองและอารมณ์
  • คนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจมีอาการนอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป ซึ่งขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท

อันตรายจากโรคนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับไม่ใช่แค่ทำให้รู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลีย แต่หากเกิดขึ้นเรื้อรัง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย สมอง อารมณ์ และการใช้ชีวิตประจำวันได้ 

1. ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย

  • เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงจากระดับฮอร์โมนความเครียดที่เพิ่มขึ้น
  • ระบบเผาผลาญผิดปกติ เพิ่มโอกาสเป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วน
  • ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ทำให้ติดเชื้อง่าย และป่วยบ่อย
  • รบกวนระบบย่อยอาหารเสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อนและลำไส้แปรปรวน

2. ส่งผลต่อสมองและอารมณ์

  • สมาธิลดลง ความจำแย่ลง ทำให้การเรียนและการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
  • เพิ่มความเสี่ยงโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ทำให้อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
  • ในระยะยาว อาจเพิ่มโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์

3. เพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและอันตรายในการใช้ชีวิต

  • เพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน โดยเฉพาะการขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร
  • การตัดสินใจแย่ลง อาจนำไปสู่ความผิดพลาดในการทำงานหรือชีวิตประจำวัน
  • การควบคุมอารมณ์ลดลง อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

4. ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความสัมพันธ์

  • ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่สดชื่น ไม่มีแรงทำกิจกรรมที่เคยชอบ
  • ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ส่งผลต่อโอกาสในหน้าที่การงาน
  • อารมณ์แปรปรวน ทำให้ความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนแย่ลง

รักษาโรคนอนไม่หลับ สามารถรักษาได้ด้วยวิธีไหน

โรคนอนไม่หลับ สามารถรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การปรับพฤติกรรม การบำบัดทางจิตใจ และการใช้ยาในบางกรณี เพื่อช่วยให้ร่างกายกลับมามีวงจรการนอนที่เป็นปกติ

1. ปรับพฤติกรรมการนอน (Sleep Hygiene)

การปรับพฤติกรรมการนอนเป็นวิธีพื้นฐานที่ช่วยให้ร่างกายคุ้นเคยกับการพักผ่อนที่มีคุณภาพ การตั้งเวลานอนและตื่นให้เป็นกิจวัตรสามารถช่วยปรับนาฬิกาชีวภาพของร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ

  • นอนและตื่นให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อสร้างวินัยในการนอน
  • หลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าจากโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ก่อนนอน เพราะรบกวนการผลิตเมลาโทนิน
  • งดคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และบุหรี่ก่อนนอน เพราะกระตุ้นระบบประสาทและทำให้หลับยาก
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบา ๆ หรืออาบน้ำอุ่นก่อนนอน

2. การบำบัดพฤติกรรมและความคิด (CBT-I: Cognitive Behavioral Therapy for Insomnia)

CBT-I เป็นแนวทางการบำบัดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ โดยเน้นการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนอน

  • เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการนอน หยุดกังวลเรื่องนอนไม่หลับ เพราะยิ่งกังวลยิ่งหลับยาก
  • ใช้เทคนิคผ่อนคลาย เช่น การฝึกหายใจลึก ๆ การทำสมาธิ หรือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • ฝึกควบคุมเวลาเข้านอนและตื่นให้เป็นกิจวัตร แม้ในวันหยุด เพื่อช่วยให้ร่างกายปรับตัว

3. การใช้ยา (Medication Therapy)

ในบางกรณี อาจจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับ แต่ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากยาสามารถทำให้เกิดการติดยานอนหลับได้

  • ยานอนหลับ ควรใช้เฉพาะช่วงสั้น ๆ และไม่ควรใช้เป็นทางออกหลัก
  • ยาเมลาโทนิน อาจช่วยปรับสมดุลนาฬิกาชีวภาพของร่างกายให้กลับมาปกติได้
  • ยาต้านซึมเศร้าบางชนิด ใช้ในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมกับโรคนอนไม่หลับ

4. การบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติ

การใช้วิธีธรรมชาติที่ช่วยกระตุ้นการนอนโดยไม่ต้องพึ่งยา ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ  เช่น

  • ฝึกโยคะหรือสมาธิ เพื่อลดความเครียดและช่วยให้ร่างกายสงบก่อนนอน
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยปรับสมดุลของร่างกาย แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักก่อนนอน
  • ดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ เช่น นมอุ่น หรือชาคาโมมายล์ เพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย

5. การรักษาโรคต้นเหตุ

หากโรคนอนไม่หลับเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จำเป็นต้องรักษาต้นเหตุของโรคควบคู่กัน เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด

  • หากเกิดจากโรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวล อาจต้องใช้การบำบัดทางจิตใจหรือยารักษาอาการร่วมด้วย
  • ผู้ที่มีภาวะนอนกรนร่วมกับการหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ CPAP เพื่อป้องกันการอุดกั้นทางเดินหายใจ
  • หากเกิดจากโรคกรดไหลย้อน ควรหลีกเลี่ยงอาหารมื้อดึก และนอนยกหัวเตียงสูงขึ้น

โรคนอนไม่หลับอันตราย เราจึงต้องรีบรักษา

โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) เป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อาการหลักของโรคนี้ ได้แก่ หลับยาก ตื่นกลางดึก หลับต่อไม่ได้ หรือตื่นเช้าเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากความเครียด พฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ โรคประจำตัว หรือปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม หากปล่อยไว้เรื้อรัง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคซึมเศร้า และทำให้สมาธิ ความจำ และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง โรคนี้มีวิธีรักษามีหลายแนวทาง เช่น การปรับพฤติกรรมการนอน การบำบัดพฤติกรรม (CBT-I) การใช้ยาในบางกรณี และการรักษาโรคต้นเหตุ

หากคุณมีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง Bangkok Sleep Center พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาปัญหาการนอน ด้วยเทคโนโลยีการรักษา เช่น Sleep Test (Polysomnography, PSG) เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม อย่าปล่อยให้ปัญหานี้กระทบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคุณ Bangkok Sleep Center พร้อมช่วยให้คุณกลับมานอนหลับสนิท และตื่นมาพร้อมความสดชื่น

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับ แก้ยังไง?

โรคนอนไม่หลับแก้ได้โดยการปรับพฤติกรรมการนอน นอนเป็นเวลา หลีกเลี่ยงคาเฟอีนและแสงสีฟ้าก่อนนอน หากยังไม่ดีขึ้น อาจใช้การบำบัดพฤติกรรม (CBT-I) หรือยานอนหลับตามคำแนะนำแพทย์ หากเกิดจากโรคประจำตัว ควรรักษาต้นเหตุร่วมด้วย

โรคนอนไม่หลับ เกิดจากอะไร?

โรคนอนไม่หลับเกิดจากความเครียด พฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม หรือโรคประจำตัว เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือกรดไหลย้อน และ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงรบกวนหรือห้องนอนไม่เหมาะสม

โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง รักษา?

โรคนอนไม่หลับเรื้อรังรักษาได้โดยปรับพฤติกรรมการนอน เช่น นอนเป็นเวลา หลีกเลี่ยงคาเฟอีนและแสงสีฟ้าก่อนนอน การรักษาด้ารการบำบัดพฤติกรรม (CBT-I) เพื่อปรับความคิดเกี่ยวกับการนอน หากจำเป็นอาจใช้ยานอนหลับภายใต้คำแนะนำแพทย์ และหากเกิดจากโรคประจำตัว ควรรักษาต้นเหตุร่วมด้วย

นอนไม่หลับสมองไม่หยุดคิด เกิดจาก?

นอนไม่หลับสมองไม่หยุดคิด เกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า ที่ทำให้สมองตื่นตัวตลอดเวลา หรือเกิดจากพฤติกรรมก่อนนอนที่กระตุ้นสมอง เช่น ใช้มือถือ คิดเรื่องงาน หรือดื่มคาเฟอีนมากเกินไป รวมถึงความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ส่งผลต่อวงจรการนอนหลับ

กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์
ศูนย์ตรวจรักษาภาวะนอนกรน และนอนไม่หลับ
เพื่อให้การนอนของคุณ เป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนอย่างแท้จริง

โทรปรึกษา 064-649-1919, 02-089-8687

รักษาโรคนอนไม่หลับ แบบ CBT-I

“นอนไม่หลับ ทำไงดี?”

อาการนอนไม่หลับเป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยในยุคนี้ ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป การทำงานที่ต้องใช้ความคิดมากขึ้น ส่งผลต่ออารมณ์ เกิดความเครียดสะสม   สวนทางกับเวลาดูแลตัวเองที่ลดน้อยลง ส่งผลเสียต่อร่างกาย สภาพจิตใจ และกระทบกับ “การนอนหลับ” ในที่สุด

ความเครียด ทำให้นอนไม่หลับ

“ข้อมูลปี 2563 จากกรมสุขภาพจิต พบว่า มีคนไทยมากกว่า 19 ล้านที่มีปัญหานอนไม่หลับ เทียบเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20-30 ของประชากร และที่น่ากังวลคือ ยังพบอาการนี้ได้ในทุกช่วงวัยอีกด้วย”

ในปัจจุบัน การรักษาโรคนอนไม่หลับ มีหลากหลายวิธี แนวทางการรักษาด้านจิตวิทยาได้ถูกนำมาใช้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ การบำบัดอาการนอนไม่หลับด้วยการปรับพฤติกรรม และปรับเปลี่ยนความคิด ที่เรียกว่า “CBT-I (Cognitive Behavioral Therapy for Insomnia) ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากสนับสนุนว่า CBT-I เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะนอนไม่หลับ

หากท่านกำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ นี่อาจเป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ… 

แบบไหน? ที่เรียกว่า “โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)”

โรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia เป็นโรคที่ทำให้เราเกิดความยากลำบากอย่างยิ่งในการนอน อาจเกิดขึ้นได้ 3 ลักษณะ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือเกิดร่วมกัน อันได้แก่

  1. นอนหลับยาก (initiating sleep) นอนหลับยาก ใช้เวลานานกว่าจะหลับได้
  2. นอนไม่ต่อเนื่อง (maintaining sleep) ตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อย ๆ พอจะนอนหลับอีกครั้งก็หลับได้ยาก
  3. ตื่นเร็ว (waking too early) ตื่นนอนเร็วผิดปกติ แม้แต่บางรายที่เข้านอนดึก ก็ยังตื่นเร็วกว่าปกติ 
3 อาการ โรคนอนไม่หลับ

นอกจากนี้ ยังพบอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างวัน ดังนี้

  1. มีอาการอ่อนเพลีย
  2. สมาธิสั้น ไม่จดจ่อ กระสับกระส่าย
  3. มีปัญหาด้านความจำ
  4. ประสิทธิผล (productivity) ในการทำงานลดลง
  5. ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย (จากที่ปกติไม่เคยเป็น)
  6. ง่วงนอนในเวลากลางวัน

นอนไม่หลับแบบไหน? ควรพบแพทย์

อาการนอนไม่หลับ หากเกิดขึ้นช่วงสั้น ๆ ไม่กี่คืน หรือเกิดได้เป็นสัปดาห์ มักเกิดจากความเครียด ความตื่นเต้น อยู่ในภาวะเจ็บป่วย ไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม หรือร่างกายพึ่งผ่านระยะการกระตุ้นมาไม่นานก่อนเข้านอน เช่น พึ่งออกกำลังกายช่วงหัวค่ำ เราเรียกอาการนี้ว่า โรคนอนไม่หลับจากปัญหาการปรับตัว (Adjustment Insomnia) เป็นภาวะที่ไม่น่ากังวล หากเริ่มปรับตัวหรือผ่อนคลายลงแล้ว จะกลับมานอนหลับได้ตามปกติ

แต่ถ้าอาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 3 คืน/สัปดาห์ เป็นเวลานานมากกว่า 3 เดือน จะเรียกว่า โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic insomnia) อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ โรคผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม

เมื่อมีอาการเช่นนี้นานวันเข้า จะเริ่มส่งผลให้เราเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความผิดปกติในการนอนหลับของตัวเอง ซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้การนอนหลับยากลำบากมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นปัญหานอนไม่หลับประเภทใดก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องรอดูอาการเป็นเดือน มีข้อแนะนำว่า หากมีอาการดังกล่าวติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาและวางแผนการรักษาโรคนอนไม่หลับได้ทันที

การรักษาโรคนอนไม่หลับ CBT-I คืออะไร?

Cognitive Behavioral Therapy for Insomnia หรือ CBT-I คือ การรักษาโรคนอนไม่หลับโดยไม่ใช้ยา แต่จะบำบัดโดยการปรับพฤติกรรมและปรับเปลี่ยนความคิด โดยใช้วิทยาศาสตร์ของการนอนหลับเป็นฐานความรู้ ร่วมกับหลักการทางจิตวิทยา

รักษาจากต้นตอ ด้วยการมองหาความคิดที่บิดเบือน

เวลาที่เราใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ และต้องผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ เรามักจะตัดสิน มีความเชื่อ หรือมีความรู้สึกนึกคิดต่อสิ่งต่าง ๆ ที่บิดเบือนไปจากความจริง (dysfunctional thinking) หลาย ๆ ครั้งความเชื่อเหล่านี้ก็กลับมาสร้างผลกระทบทางลบต่ออารมณ์และความรู้สึกของเราเอง

ดังนั้น ในทางจิตวิทยาจึงมีหลักการการบำบัดว่า ถ้าสามารถช่วยให้ผู้ป่วย ประเมินความคิดให้ถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริงต่าง ๆ ได้ และเริ่มจับสังเกตเห็นรูปแบบความคิดที่บิดเบือนไปจากความจริง อาการที่ผิดปกติทางด้านจิตใจและพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้ป่วยก็จะดีขึ้น

CBT-I เป็นแนวทางรักษาที่ต่อยอดมาจาก CBT ที่ใช้หลักการข้างต้นนี้ ในช่วงแรก CBT-I ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า เรียกว่า CBT (Cognitive Behavioral Therapy)  เมื่อการใช้รักษาโรคซึมเศร้าได้ผลดี และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับชัดเจน จึงได้มีการนำไปประยุกต์ใช้รักษาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต และการใช้ชีวิตในด้านอื่น ๆ

ต่อมาจึงประยุกต์ CBT เพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับโดยเฉพาะด้วย โดยการผสมผสานเทคนิคหลายด้านที่เกี่ยวกับการปรับความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย และมุ่งเน้นไปที่การค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างวิธีที่เราคิด สิ่งที่เราทำ และวิธีที่เรานอนหลับ

การรักษาโดยวิธีนี้เป็นแนวทางการรักษาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และมีการศึกษามากมายที่พบว่าเป็นรักษาที่มีประสิทธิภาพดี โดยไม่ต้องรักษาร่วมกับการใช้ยาเหมือนการรักษาอาการนอนไม่หลับในอดีต 

แม้ว่าการรักษาร่วมกับการใช้ยาจะเป็นการรักษาระยะสั้นที่มีประสิทธิผล เพราะสามารถบรรเทาอาการเราได้ทันทีเวลาที่มีความเครียดหรือความตื่นตัวสูง แต่อาจไม่ใช่วิธีรักษาอาการนอนไม่หลับในระยะยาวที่ดีที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่นอนไม่หลับของผู้ป่วยแต่ละราย

แนวคิดการรักษาโรคนอนไม่หลับ ด้วย CBT-I ที่สำคัญ

แพทย์หรือนักจิตวิทยาจะสอบถามและทดสอบ เพื่อดูว่าพฤติกรรมใดส่งเสริมการนอนหลับ หรือส่งเสริมให้เกิดปัญหาการนอนหลับกับตัวผู้ป่วย แล้วหาสาเหตุทางด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่นำไปสู่อาการนอนไม่หลับได้ในท้ายที่สุด

โดยในระหว่างการรักษา แพทย์อาจแนะนำเทคนิคสำคัญที่ช่วยในการรักษาโรคนอนไม่หลับ ได้แก่

  • การจำกัดระยะการนอน (sleep restriction) และ การบีบอัดระยะเวลาการนอน (sleep compression) : เป็นหนึ่งในเทคนิคการรักษาอาการนอนไม่หลับเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการจำกัดระยะเวลาการนอนบนเตียงให้น้อยลง เพื่อฟื้นฟูระบบการทำงานของร่างกายในส่วนที่สร้างแรงขับที่จะหลับ (sleep drive)
  • การบำบัดด้วยการควบคุมสิ่งเร้า (stimulus control therapy) : หลายคนที่มีอาการนอนไม่หลับจะเริ่มกลัวห้องนอนและเตียงของตัวเอง จึงเป็นการเชื่อมโยงทางความรู้สึกในแง่ลบ ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกตื่นเต้นหรือกังวล เมื่อถึงเวลานอน กลยุทธ์นี้ จะช่วยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขทางความรู้สึกที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในการนอนให้ดีขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายเมื่อถึงเวลานอน
  • การปรับพฤติกรรมและความคิด (Cognitive behavior therapy) : เป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลใจในการนอนหลับ โดยการค้นหาความเชื่อที่บิดเบือน และแทนที่ด้วยความเชื่อใหม่ที่เอื้อให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้ดีขึ้น โดยอาจใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การรักษาด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจ (psychoeducation) หรือการปรับโครงสร้างทางความคิด (cognitive restructuring) เป็นต้น
  • การสร้างเสริมสุขอนามัยในการนอน (Sleep hygiene) : เป็นแนวทางการเปลี่ยนนิสัยการใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มคาเฟอีน การดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกายเป็นประจำ

การฝึกผ่อนคลาย (Relaxation training) : เป็นการฝึกฝนที่ช่วยให้เราสงบจิตใจและร่างกายของตัวเอง เพื่อลดความตื่นเต้นหรือความกังวล ไม่ว่าจะเป็น การทำสมาธิ การนึกภาพ (imaginary training) การฝึกการหายใจ และการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

5 แนวคิด แก้โรคนอนไม่หลับ

นอกจากนี้ ยังมีเทคนิค CBT-I อีกมาก ที่แพทย์หรือนักจิตวิทยาอาจเลือกนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงสาเหตุที่เกิดโรคของผู้ป่วยด้วย 

CBT-I เหมาะกับใคร?

CBT-I เหมาะกับผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับที่ไม่เคยพบแพทย์มาก่อน หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่เคยรักษาโรคนอนไม่หลับด้วยยามาแล้ว (แต่ยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีนัก) ก็สามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธี CBT-I ได้ นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานสนับสนุนว่า การรักษาด้วยวิธี CBT-I มีผลการรักษาโรคนอนไม่หลับในระยะยาวดีกว่าการใช้ยา benzodiazepine และ nonbenzodiazepine อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการรักษา เนื่องจากในบางรายที่มีอาการรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาก่อน จนอาการทุเลาลงแล้วจึงเข้ารับการรักษาด้วย CBT-I ต่อไปได้

ขั้นตอนการรักษาโรคนอนไม่หลับด้วย CBT-I

การรักษาจะเริ่มจากผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการนอนหลับ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคว่าอาการนอนไม่หลับของคนไข้ มีแนวโน้มมาจากสาเหตุอะไร

เมื่อแพทย์วินิจฉัยแยกโรคได้แล้วว่า ผู้ป่วยนอนไม่หลับเพราะโรคนอนไม่หลับจริง ๆ เช่น เกิดการตื่นตัวของร่างกาย หรือเพราะมีพฤติกรรมที่ไม่ดีทั้งช่วงเวลานอน ก็จะส่งให้มารับการรักษาโดยวิธี CBT-I โดยนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดต่อไป

ขั้นตอนการรักษาโรคนอนไม่หลับ แพทย์จะใช้การพูดคุย การให้ความรู้ และการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม รวมถึงไลฟ์สไตล์ของผู้ป่วย โดยมีการสร้างความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน เช่น สามารถหลับได้เร็ว การนอนหลับมีความต่อเนื่อง และมีคุณภาพการนอนหลับที่ดี เหมาะสมตามศักยภาพของผู้รับการบำบัด

ระยะเวลา และจำนวนครั้งที่ต้องเข้ามารักษา

การรักษาโรคนอนไม่หลับ จะใช้การพบกันประมาณ 6-8 ครั้ง ครั้งละประมาณ 45-60 นาที ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ครั้งที่ 1 แจ้งแนวทางรักษา ประเมินปัญหา : จะเป็นการสัมภาษณ์ประวัติเบื้องต้น ทำชุดแบบทดสอบเพื่อประเมินปัญหา และการทำบันทึกประจำวันด้านการนอนหลับ เพื่อวางแผนการรักษาในครั้งถัดไป

ครั้งที่ 2-4 ปรับเปลี่ยนโดยใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ  :เป็นการรักษาโดยใช้การปรับพฤติกรรมการเข้านอนและตื่นนอน ที่สอดคล้องกับนาฬิกาชีวิต (Body Clock) หรือนาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) ของผู้รับบริการ โดยใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรมเมื่อต้องเผชิญปัญหาการนอนไม่หลับ ตลอดจนการปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของแต่ละบุคคลที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการบำบัดรักษา

ครั้งที่ 5 ฝึกฝนการผ่อนคลาย : ฝึกฝนเทคนิคการผ่อนคลายและการจัดการความเครียด เพิ่มเพิ่มพูนศักยภาพในการนอนให้ดียิ่งขึ้น ลดภาวะการตื่นตัวของระบบประสาทอัตโนมิติที่ส่งผลให้การนอนหลับเกิดขึ้นยาก

ครั้งที่ 6 – 8 คงไว้ซึ่งผลดีของการรักษา : การทำงานร่วมกันโดยใช้การปรับความคิด หรือวิธีคิดที่ส่งผลให้การนอนหลับถูกรบกวน โดยใช้การรู้คิดและพฤติกรรมบำบัด (CBT) เพื่อสร้างเสริมทักษะให้สามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง

รักษาอาการนอนไม่หลับ ซื้อยานอนหลับกินเอง อันตราย!

ไม่มีใครอยากเป็นโรคนี้ และทุกคนล้วนอยากหายขาดจากอาการนอนไม่หลับ แต่ถ้าเรามุ่งไปที่การแก้ไขอาการเลย โดยเฉพาะการซื้อยากินเอง ทั้ง ๆ ที่สาเหตุยังไม่ถูกแก้ไขอย่างถูกต้อง ก็มีโอกาสที่จะไม่หายขาด ต้องใช้ยาต่อเนื่อง เมื่อหยุดใช้ยาก็อาจกลับมาเป็นซ้ำ

อย่าซื้อยานอนหลับมากินเอง

นอกจากนี้ อาจเกิดผลข้างเคียงของยาจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง เกิดผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวได้ อีกทั้ง ยังมีโอกาสทำให้โรคนอนไม่หลับเป็นหนักขึ้น หรือเรื้อรังมากขึ้นได้อีกด้วย 

การนอนไม่หลับ เป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น การมาพบแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่ชำนาญการเฉพาะด้าน และได้รับการวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ จะเป็นแนวทางที่ปลอดภัยและมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้มากกว่า

การรักษาโรคนอนไม่หลับ ด้วย CBT-I ที่กรุงเทพ สลีป เซนเตอร์

การรักษาโรคนอนไม่หลับที่กรุงเทพ สลีป เซนเตอร์ จะมีบริการรักษาโรคนอนไม่หลับแบบ CBT-I โดยนักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ที่ผ่านการศึกษาด้านการนอนหลับมาโดยเฉพาะ รวมถึงการศึกษาในด้านที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม จิตวิทยาคลินิกและชุมชน ปรัชญาและศาสนา

หากท่านใดสนใจรักษาโรคนอนไม่หลับ ต้องการปรึกษาหรือเข้ารับการตรวจ สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ช่องทางติดต่อต่าง ๆ ของเรา

สรุป

โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) เป็นความผิดปกติของการนอนหลับที่ทำให้หลับยาก หลับไม่ทน หรือทำให้เราต้องตื่นขึ้นมาเร็วกว่าเวลาอันสมควร และกำลังเป็นโรคที่ผู้คนเป็นกันมากขึ้นในยุคนี้

แนวทางการรักษาโรคนอนไม่หลับด้วยวิธี Cognitive Behavioral Therapy for Insomnia ที่เรียกว่า CBT-I เป็นแนวทางรักษาโรคนอนไม่หลับที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการเรื้อรัง ในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในการแพทย์ตะวันตก เพราะมีงานวิจัยและการศึกษาที่ยืนยันประสิทธิภาพการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวว่าได้ผลลัพธ์ที่ดี

อย่างไรก็ดี เนื่องจากแนวทางการรักษาโรคนอนไม่หลับของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามสภาพร่างกาย สภาพจิตใจและปูมหลังของผู้ป่วย ดังนั้น หากมีอาการและสงสัยว่า นอนไม่หลับทำอย่างไรดี? มีข้อแนะนำ คือ ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุอาการต่าง ๆ และนำไปสู่การวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

ศูนย์ Sleep lab ยินดีให้บริการ และพร้อมให้คำปรึกษาโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) แก้ไขปัญหานอนกรน แก้อาการนอนกรน ผู้หญิง-ผู้ชาย พร้อมบริการรักษาภาวะนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea) โดยการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) โดยแพทย์เฉพาะทางที่ได้รับการรับรองจาก American Board of Sleep Medicine และเจ้าหน้าที่ ที่คอยให้บริการอย่างอบอุ่น สุภาพ และเป็นกันเอง ในบรรยากาศที่พักส่วนตัวที่เงียบสงบ และร่มรื่น

กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์
ศูนย์ Sleep lab ที่ให้การตรวจการนอนหลับ (sleep test) ของคุณ
เป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนอย่างแท้จริง

โทรปรึกษา 064-649-1919, 02-089-8687

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *