เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์ ถึงขั้นต้องตกลงกับคนรัก (หรือเพื่อนที่นอนห้องเดียวกัน) ว่าให้ใครนอนก่อน เพราะถ้าให้คนที่มีอาการนอนกรนเสียงดังหลับปุ๋ยไปเสียก่อน คนที่เหลือก็คงไม่มีสิทธิ์ได้นอนสบายเป็นแน่
ฟังดูก็เหมือนเป็นเรื่องธรรมชาติ ดูน่าขำขันดี แต่เราจำเป็นต้องทนฟังอีกฝ่ายกรนไปเรื่อย ๆ เพราะมันเป็นเรื่องปกติแบบนี้จริง ๆ หรือ?
แม้ว่าหลายคนจะมีอาการนอนกรน จนเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่อาการนอนกรนถือเป็นภาวะที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะรายที่มีอาการมาก นอนทีไรเป็นต้องกรนทุกที ยิ่งไปกว่านั้น หากการนอนกรนที่เป็นอยู่ มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เนื่องจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ในระยะยาว
มาดูกันว่า แนวทางการรักษาอาการนอนกรนนี้ ต้องทำอย่างไรบ้าง?
สารบัญ
- เสียงกรน เกิดจากอะไร?
- อาการนอนกรน เกิดจากสาเหตุใด?
- นอนกรน อันตรายหรือไม่?
- ผลเสียจากการนอนกรน
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) กับการนอนกรน
- สามีนอนกรนบ้านแทบแตก ทำอย่างไรดี?
- ผู้หญิงกับอาการนอนกรน
- เด็ก ๆ ก็มีปัญหานอนกรนและเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับได้ !
- คนที่มีอายุมากขึ้นยิ่งเสี่ยงมีอาการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับเพิ่มขึ้น
- แก้อาการนอนกรนด้วยตัวเอง วิธีไหนดี?
- การตรวจ Sleep Test : นอนกรนหรือไม่? ไม่ใช่แค่ฟังเสียง
- แนวทางการรักษาอาการนอนกรน
- สรุป
เสียงกรน เกิดจากอะไร?
เสียงกรน เกิดจากช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอและโคนลิ้นตีบแคบลงขณะที่นอนหลับสนิท ทำให้ทรวงอกต้องออกแรงหายใจเข้ามากขึ้นเพื่อสูดอากาศผ่านช่องคอที่ตีบแคบ จนทำให้เนื้อเยื่อบริเวณช่องคอสั่นสะเทือนดังเป็นเสียงกรนออกมา “ครอก ฟี้ !”
อาการนอนกรน เกิดจากสาเหตุใด?
อาการนอนกรน อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- กล้ามเนื้อในช่องคอหย่อนคล้อย หรือตีบแคบลง ไปอุดกั้นช่องทางเดินหายใจ
- มีไขมันในช่องคอมากทำให้ช่องทางเดินหายใจตีบแคบ
- มีก้อนในช่องทางเดินหายใจ เช่น ต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โต ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการนอนกรนและเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก
- สาเหตุทางกรรมพันธุ์ หากมีคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ นอนกรน ลูกก็จะมีความเสี่ยงที่จะนอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับสูงกว่าคนปกติ
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การรับประทานยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาท จะทำให้กล้ามเนื้อหย่อนตัวลงมากกว่าปกติ ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ ผู้ที่มีโครงสร้างกระดูกเล็กกว่าปกติ เช่น คางสั้น คางถอย เป็นต้น
- มีช่องคอที่แคบโดยกำเนิด หรือมีโครงหน้าที่เป็นอุปสรรคต่อทางเดินหายใจ เช่น คางสั้น โคนลิ้นใหญ่ ช่องจมูกคด
ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมา ทำให้อากาศไหลผ่านไม่สะดวกและเกิดเป็นเสียงกรนดังขึ้น
นอนกรน อันตรายหรือไม่?
อาการนอนกรน มีทั้งแบบที่ไม่เป็นอันตราย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนี้
- กรนธรรมดา (primary snoring) คือ อาการนอนกรนที่เกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจบางส่วนขณะนอนหลับ ผู้ป่วยยังสามารถหายใจได้ ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย
2. การนอนกรนที่อันตราย คือ อาการนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea – OSA) ร่วมด้วย เกิดจากทางเดินหายใจที่ตีบแคบมากขึ้นเรื่อยๆ จนปิดสนิทไปชั่วขณะ ทำให้อากาศผ่านไม่ได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการนอนกรนเสียงดัง แล้วหยุดเงียบไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ผลเสียจากการนอนกรน
หากเป็นการนอนกรนธรรมดา ไม่ได้เกิดร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ก็จะไม่เป็นอันตราย
จะมีเพียงแค่เสียงกรนที่สร้างความรำคาญให้กับคนนอนร่วมห้อง ทำให้นอนหลับยาก จนเกิดปัญหาความสัมพันธ์ อีกทั้งยังทำให้ผู้ที่นอนกรนเกิดความไม่มั่นใจ และก่อให้เกิดปัญหาในการเข้าสังคมได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะบอกว่าไม่มีอันตราย แต่การนอนกรนเป็นประจำ ก็ทำให้ผู้ป่วยต้องประสบกับความยากลำบากในการหายใจ แถมยังมีโอกาสเจ็บคอ เป็นคออักเสบจากอาการนอนกรนได้ด้วย จึงควรเข้ารับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสมจะดีกว่า
“ในขณะที่การนอนกรนร่วมกับมีภาวะ OSA (Obstructive Sleep Apnea)
นั้นอันตราย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ป่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว“
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) กับการนอนกรน
ภาวะ OSA จะส่งผลกระทบต่อร่างกายผู้ป่วย เนื่องจากได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในจังหวะที่หยุดหายใจ
ในขณะนอนหลับผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองกำลังหยุดหายใจ มีแต่ระบบร่างกายเท่านั้นที่ทำงานโดยอัตโนมัติ เพื่อส่งสัญญาณบางอย่างให้เอาตัวรอด เช่น บางท่านขณะหลับอาจฝันว่าจมน้ำ หรือวิ่งหนีอะไรสักอย่างจนเหนื่อยแล้วสะดุ้งตื่น ทำให้สะดุ้งเฮือกแล้วสูดอาการเข้าปอด
จากการศึกษาพบว่า การนอนกรนนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะ OSA โดยพบว่าคนที่นอนกรนมีโอกาสพบภาวะ OSA เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้ป่วยที่มีภาวะ OSA ส่วนใหญ่ จะมีอาการกรนเสียงดังให้ได้ยิน แต่บางรายก็อาจจะกรนแค่เบาๆหรือไม่กรนเลยก็ได้ !
หากคุณมีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน ตื่นเช้ามาไม่สดชื่น หลงลืมไม่ค่อยมีสมาธิจดจ่อ อ่อนเพลียเหมือนนอนไม่พอ บางครั้งมีอาการปวดหัวหนักๆ หลังจากตื่นนอนตอนเช้า แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) หากจำเป็น เพื่อแก้ไขได้ทันท่วงที
หากคุณมีอาการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ และไม่ได้รับการแก้ไข นานวันเข้าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจวาย อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม สมรรถภาพทางเพศลดลง
ศึกษาเพิ่มเติม ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ OSA หากปล่อยไว้อาจทำร้ายคุณ ถึงชีวิต!
สามีนอนกรนบ้านแทบแตก ทำอย่างไรดี?
คุณผู้หญิงหลาย ๆ คน มักจะมีข้อกังวลที่สามีชอบนอนกรนเป็นประจำ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกมากนัก เนื่องจากพบว่าผู้ชายมักมีภาวะนอนกรนมากกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว นอกจากนี้ พฤติกรรมเสี่ยงอย่างเช่น การดื่มสุรา สูบบุหรี่จัด ก็เป็นสาเหตุที่ยิ่งกระตุ้นอาการนอนกรนได้ และอาจมีอาการมากขึ้นถ้าเป็นคนอ้วน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือจมูกอักเสบ ทำงานหักโหม หรือออกกำลังกายมากเกินไป
แต่อีกปัญหาหนึ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กันก็คือ ปัญหาที่คุณผู้หญิงมีภาวะหลับยาก เนื่องจากสามีนอนกรนเสียงดัง ปัญหาเหล่านี้พอสะสมมากเข้า จะทำให้คนที่นอนกรนและคนที่นอนฟัง อารมณ์เสียหรือหงุดหงิดง่ายขึ้น เพราะนอนไม่ได้คุณภาพทั้งคู่ จึงทะเลาะกันง่ายขึ้น บางคู่ก็ต้องแยกห้องแยกเตียงกัน อาจมีผลต่อความสัมพันธ์ในระยะยาวได้
ข้อแนะนำสำหรับคุณผู้หญิงที่พบว่าคนข้าง ๆ นอนกรน : หากมีอาการน้อย สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณผู้ชายได้ เช่น หาที่อุดหู หรือให้สามีนอนตะแคง และลดการดื่มเครื่องดื่มหรือยาที่กระตุ้นภาวะนอนกรน เป็นต้น แต่ถ้ากรนเสียงดังมากและแก้ไขไม่ได้ ควรพาสามีมาปรึกษาแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้านการนอนหลับ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
อย่าใช้วิธีอดทน เพราะอาการนอนกรนแทบไม่เคยหายได้เอง แถมยังมีผลเสียต่อสุขภาพของทั้งสองฝ่าย และยังทำให้ความสัมพันธ์ของคุณทั้งคู่แย่ลงด้วย
ผู้หญิงกับอาการนอนกรน
ปกติเราจะได้ยินกันอยู่แล้วว่า ผู้ชายนอนกรนมากกว่า แล้วถ้าผู้หญิงนอนกรนล่ะ? ถือว่าผิดปกติไหม?
ที่จริงแล้วมีการสำรวจเกี่ยวกับการนอนกรนในผู้หญิงพอสมควร และมีรายงายพบว่าผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเลยที่มีปัญหานอนกรน แต่เพราะผู้หญิงมักไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในแบบสำรวจด้านการนอนกรน เพราะผู้ชายมีแนวโน้มถูกเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่างการศึกษาเรื่องการนอนหลับมากกว่าผู้หญิง
ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสนอนกรนสำหรับผู้หญิง
ผู้หญิงวัยกลางเป็นต้นไป โดยเฉพาะในระยะหลังหมดประจำเดือน (postmenopause) มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น และยังเสี่ยงกับภาวะหัวใจผิดปกติเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ชาย โดยมีสาเหตุมาจากสูญเสียฮอร์โมนที่สำคัญไป รวมถึงการมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น
อย่าอาย ที่จะยอมรับว่าตัวเองนอนกรน
เมื่อมีอาการนอนกรนแล้ว ผู้หญิงมักไม่ค่อยได้ปรึกษาปัญหานี้กับแพทย์ เพราะคิดว่าตัวเองเป็นเพศหญิงแล้วรู้สึกว่าการนอนกรนเป็นเรื่องน่าอับอาย รวมถึง เวลาที่ต้องกรอกแบบสอบถาม (งานวิจัย) ก็มักจะประเมินอาการตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง เราเรียกปัญหานี้ว่า “social stigma of snoring” เป็นผลให้เรารับรู้ปัญหาการนอนกรนในเพศหญิง บิดเบือนไปจากความเป็นจริง
ขอให้ทำความเข้าใจใหม่ว่า จะเป็นเพศไหนก็ตาม ก็ล้วนมีโอกาสนอนกรนได้ทั้งนั้น ดังนั้นคุณผู้หญิง เมื่อมีอาการผิดปกติระหว่างนอนหลับ จงซื่อสัตย์ต่อตัวเอง การนอนกรนไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นภาวะผิดปกติที่ควรรีบรักษา ขอให้ปรึกษาแพทย์อย่างตรงไปตรงมาเพื่อรับการรักษา จะได้นอนหลับอย่างเต็มอิ่มและมีความสุข
เด็ก ๆ ก็มีปัญหานอนกรน และเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับได้
เด็กนอนกรน เป็นอีกปัญหาที่พบได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ โดยเฉพาะ ถ้าเป็นร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับแล้วยิ่งเสี่ยงอันตราย การนอนกรนในเด็กมักมีสาเหตุหลักมาจากต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โตขึ้นจากภูมิแพ้ หรือการติดเชื้อ ซึ่งมักเป็นในเด็กอายุระหว่าง 2 – 6 ปี
การนอนกรนในเด็กส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ศึกษาต่อได้ที่
https://www.bkksleepcenter.com/does-your-child-have-heavy-breathing/
พ่อแม่ควรคอยระวังและหมั่นสังเกตลูก ๆ อยู่เสมอ เนื่องจากในบางกรณี เด็กอาจไม่ได้มีอาการนอนกรนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย หากปล่อยให้มีอาการบ่อยครั้งในช่วงของการเจริญเติบโต อาจเป็นภัยเงียบที่มีผลต่อปัญหาพัฒนาการของเด็ก นำมาสู่ปัญหาความก้าวร้าวหรือไม่มีสมาธิ และอาจทำให้เด็กเจ็บป่วยได้ง่าย รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งมีความรุนแรง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://www.bkksleepcenter.com/snoring-in-child/
สังเกตสักนิด ชีวิตลูกปลอดภัยจากภาวะ OSA
วิธีการสังเกตภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก สามารถดูจากช่วงที่นอนหลับได้ ว่าเด็กมีอาการนอนกรนเสียงดังเป็นประจำ หรือมีอาการหยุดหายใจขณะที่กำลังหลับเป็นช่วงสั้น ๆ มีเสียงกรนหายใจหอบ ตื่นนอนระหว่างคืน หรือเหงื่อออกมากขณะหลับหรือไม่?
ตอนที่เราปลุกเด็กในช่วงเช้า ให้สังเกตว่าน้องมีอาการงอแงอยากหลับต่อ หรือรู้สึกปวดหัวหรือไม่? นอกจากนี้ ในระหว่างวัน เด็กซนมากกว่าปกติ มีสมาธิสั้น หงุดหงิดง่ายหรือไม่?
หากเราพบว่าลูก ๆ มีอาการดังที่กล่าวมา หลายข้อหรือแค่บางส่วนก็ตาม ผู้ปกครองไม่ควรชะล่าใจเด็ดขาด ควรพาเด็กไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินหายใจเพื่อตรวจร่างกายโดยละเอียด จะได้ทำการรักษาได้ทันก่อนที่จะส่งผลกระทบมากไปกว่านี้
อ่านเพิ่มเติม ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กและแนวทางการรักษา
ยิ่งอายุเพิ่มขึ้น ยิ่งเสี่ยงต่ออาการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาต่าง ๆ ตามอายุ เช่น สัดส่วนไขมันในร่างกายที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับสัดส่วนของกล้ามเนื้อที่ลดลง อาจทำให้กล้ามเนื้อในช่องคอหย่อนคล้อย กลายเป็นอุปสรรคต่อการหายใจขณะนอนหลับได้มากขึ้น
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางกายวิภาคของทางเดินหายใจ การลดลงของฮอร์โมนไทรอยด์ (เสี่ยงต่อโรคคอพอกหรือไขมันในเลือดสูง) และปริมาตรปอดที่ลดลง ก็ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้นด้วย
ดังนั้น บ้านไหนที่มีผู้สูงอายุต้องดูแล อย่าลืมหมั่นสังเกตเรื่องการนอนกรน และภาวะการหยุดหายใจขณะหลับของพวกท่านอยู่เนือง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
แก้อาการนอนกรนด้วยตัวเอง วิธีไหนดี?
การแก้ไขปัญหานอนกรนเบื้องต้น ด้วยการปรับพฤติกรรมหรือสิ่งแวดล้อมในการนอน สามารถช่วยบรรเทาปัญหาอาการนอนกรนได้ โดยวิธีที่เราแนะนำให้ลองปรับใช้ดู ได้แก่ การนอนตะแคง การปรับพฤติกรรมและสุขลักษณะการนอนหลับ และการเลือกหมอนที่เหมาะสมกับสรีระ
นอนตะแคง หรือหาอะไรกั้นไม่ให้นอนหงาย
ปกติแล้ว แพทย์ก็มักแนะนำให้บรรเทาอาการนอนกรนด้วยการให้นอนตะแคง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโดยการจัดท่านอน (Positional therapy) ซึ่งมีหลักการคือ ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยนอนหงาย เนื่องจากการนอนหงายโดยปกติ จะเพิ่มโอกาสหย่อนคล้อยของอวัยวะในช่องคอมาปิดกั้นทางเดินหายใจมากกว่า
โดยส่วนใหญ่แล้ว วิธีนี้มักจะใช้รักษาร่วมกับวิธีอื่น ๆ เนื่องจากช่วยได้แค่บรรเทาให้ความรุนแรงของอาการลดลงเท่านั้น นอกจากนี้ มักใช้ไม่ได้ผล หากผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการนอนกรนได้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่พยายามเลือกเวลาให้ห่างจากช่วงก่อนนอน
- นอนหลับให้เป็นเวลาจนติดเป็นนิสัย และควรนอนให้ได้อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- รับประทานอาหารว่างเล็กน้อยก่อนนอน แต่ไม่ควรรับประทานอาหารหนัก
- งดชา กาแฟ บุหรี่ ในช่วงบ่าย
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยากล่อมประสาท การใช้ยานอนหลับ เพราะมีผลต่อความตึงตัวของกล้ามเนื้อ จะกระทบอาการนอนกรนมากขึ้นได้
- คุมอาหาร ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีภาวะอ้วน หรือมีค่า BMI เกินมาตรฐาน เพราะมวลไขมันที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดการตีบลงของอวัยวะในช่องคอได้
- ปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
เราใช้หมอนแก้นอนกรนจริงหรือ?
หมอนแก้นอนกรน จะเหมาะสำหรับผู้ป่วยนอนกรนในระดับที่ไม่รุนแรง ซึ่งหมอนที่จะช่วยลดการนอนกรนได้นั้น จะต้องมีความนุ่มที่พอดี และต้องรูปร่างสัมพันธ์กับสรีระของเรา รวมถึงต้องสูงในระดับที่เหมาะสม วัสดุที่ใช้ต้องมีคุณภาพ ระบายอากาศได้ดี มีความเย็นสบาย โดยมีคำแนะนำดังนี้
- นิสัยการนอน : หมอนตามท้องตลาดมักจะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ หมอนสำหรับหนุนหลังหัว และหมอนสำหรับนอนตะแคงข้าง ขอให้เราเลือกหมอนโดยคำนึงถึึงนิสัยและท่านอนของเรา โดยมีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า หากมีอาการกรนเป็นระยะเวลานาน ควรปรับท่านอนให้เป็นท่าตะแคง แล้วเลือกหมอนที่เหมาะสมสำหรับการนอนตะแคงเลยดีกว่า
- ความสูงที่เหมาะกับช่วงคอ : กระดูกสันหลังของเราโค้งเป็นรูปตัว S โดยเฉพาะในช่วงคอ การเลือกหมอนที่มีรูปทรงรองรับศีรษะให้อยู่ในแนวตัว S ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะช่วงคอคนเราไม่ได้เท่ากัน ดังนั้นสิ่งสำคัญยิ่งกว่ารูปทรง คือ ต้องมีความสูงที่พอดีกับช่วงคอและช่วยกระจายน้ำหนักได้
ก่อนที่จะซื้อหมอน อาจต้องทดลองเพื่อประเมินความสูงของหมอนที่เหมาะสมกับตัวเองจากของใช้ในบ้านอย่างง่าย ๆ ดูก่อน (อาจใช้ผ้าห่มหรือเสื้อผ้าที่พับทบกันรองคอเป็นหมอนดู) หรือไม่ก็ไปลองนอนกับหมอนที่จะซื้อจริง ๆ เลย - อย่าละเลยเรื่องการซักทำความสะอาด : หมอนที่ดีต้องถอดออกมาซักทำความสะอาดได้ หรือหากมีเทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยป้องกันการสะสมของเชื้อรา และไรฝุ่นได้ก็ยิ่งดี นอกจากนี้ ควรนำตัวหมอนไปผึ่งแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วย เพราะการหมักหมมของสิ่งสกปรก จะทำให้เราเสี่ยงเป็นภูมิแพ้หรือเป็นหวัด ซึ่งจะยิ่งไปกระตุ้นอาการนอนกรนของเราได้
- นิสัยการนอน : หมอนตามท้องตลาดมักจะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ หมอนสำหรับหนุนหลังหัว และหมอนสำหรับนอนตะแคงข้าง ขอให้เราเลือกหมอนโดยคำนึงถึึงนิสัยและท่านอนของเรา โดยมีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า หากมีอาการกรนเป็นระยะเวลานาน ควรปรับท่านอนให้เป็นท่าตะแคง แล้วเลือกหมอนที่เหมาะสมสำหรับการนอนตะแคงเลยดีกว่า
การตรวจ Sleep Test : นอนกรนหรือไม่? ไม่ใช่แค่ฟังเสียง
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรนดังมาก กรนเป็นประจำ กรนในทุกท่วงท่าการนอน หรือสงสัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น อ่อนเพลียในช่วงเช้า ง่วงนอนมากระหว่างวันบ่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจ Sleep Test
การตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep test เป็นการตรวจเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เรานอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่อาการนอนกรนแต่เพียงอย่างเดียว บางคนที่มีความผิดปกติอื่น ๆ ระหว่างนอนหลับก็สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีนี้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและติดตามการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
การตรวจการนอนหลับ (sleep test) มีระดับความละเอียดในการตรวจหลายระดับ ตั้งแต่การตรวจแบบละเอียดที่สุด ไปจนถึงการตรวจเพื่อค้นหาปัญหาบางชนิดเท่านั้น ทั้งนี้ ควรสอบถามผู้ให้บริการเพื่อประเมินระดับการตรวจที่เหมาะสมกับเรา
นอกจากนี้ เราสามารถเลือกตรวจการนอนหลับได้ที่บ้าน (home sleep test) หรือเข้ารับการตรวจยังสถานที่ตรวจก็ได้ ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ จะมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป
- การตรวจที่สถานที่ตรวจ จะมีความแม่นยำสูงที่สุด มีเจ้าหน้าที่เฝ้าบันทึกตลอดคืน
- ส่วนการตรวจที่บ้าน เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองการนอนกรนแบบเบื้องต้น แต่ได้ข้อมูลเพียงพอต่อการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีข้อดีคือ สะดวกสบายกว่า ประหยัดการเดินทางและประหยัดเวลา แต่ถ้าอุปกรณ์การตรวจมีการหลุดเลื่อนไประหว่างที่เรานอนหลับ ก็อาจต้องตรวจใหม่ซ้ำอีกครั้ง
ศึกษาการทำ sleep test เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.bkksleepcenter.com/Sleep-test
การรักษาอาการนอนกรนร่วมกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ตรวจเจออาการนอนกรนแล้วยังไงต่อ? แพทย์จะมีวิธีการรักษาโดยพิจารณาจากสาเหตุทางสรีรวิทยาของผู้ป่วย โดยมีทางเลือกการรักษาที่น่าสนใจ ได้แก่
- รักษาด้วยการแนะนำให้ปรับพฤติกรรม ซึ่งเป็นวิธีที่เราแนะนำเบื้องต้นไปแล้ว ได้แก่ เลี่ยงการนอนหงาย การลดน้ำหนักและคุมอาหาร ออกกำลังกายเป็นประจำ งดการสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น
- ใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก (Continuous Positive Airway Pressure) หรือ CPAP เป็นวิธีการที่นิยมใช้ที่สุด มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้เป็นอย่างดี และสามารถใช้รักษาได้ทุกระดับอาการ
อ่านรายละเอียดการรักษานอนกรนด้วย CPAP https://www.bkksleepcenter.com/17017438/cpap - การรักษาด้วยอุปกรณ์ทางทันตกรรม (Oral Appliance) หรือกลุ่มเครื่องมือที่ช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดกว้าง และคงสภาพไม่ให้หย่อนตัวลงในขณะนอนหลับ ซึ่งจะเหมาะกับรายที่มีอาการไม่มาก
- การใช้ยา ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุของช่องคอที่ตีบตันว่าสามารถใช้ยาในการรักษาได้หรือไม่ เช่น หากผู้ป่วยมีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) แพทย์อาจเลือกใช้ฮอร์โมนไทรอกซินในการรักษา เป็นต้น
- ใช้การผ่าตัด ซึ่งเป็นทางสุดท้ายที่แพทย์จะเลือกใช้ แต่หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการข้างต้น มีความผิดปกติทางกายวิภาค หรือมีภาวะอาการที่รุนแรงและส่งผลกระทบอย่างมาก แพทย์จะเลือกใช้วิธีการผ่าตัด
นอกจากนี้ ท่านอาจพบเห็นอุปกรณ์ที่โฆษณาว่าสามารถแก้นอนกรนได้ แพร่หลายในท้องตลาดหรือตามอินเตอร์เน็ต ซึ่งอุปกรณ์บางชนิดอาจบรรเทาการกรนหรือเสียงกรนได้บ้าง บางชนิดก็อาจใช้ไม่ได้ผลเลย อย่างไรก็ตามหากท่านมีปัญหานอนกรน การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อท่านจะได้ค้นหาความผิดปกติที่ซ่อนอยู่จากการนอนกรน เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงที
สรุป
คนที่มีอาการนอนกรน มักจะมาเข้ารับการรักษาใน 3 กรณีนี้
- มาด้วยตัวเอง : เพราะมีอาการนอนกรนเป็นประจำ หรือสงสัยว่าหยุดหายใจขณะหลับ
- คนข้าง ๆ พามา : กรนจนทะเลาะกัน หรือคนข้าง ๆ ทนไม่ไหวจึงพามา
- แพทย์ส่งตัวมา : เกิดภาวะแทรกซ้อนจนต้องส่งเข้ามารักษา
ขอแนะนำว่า… อย่ารอให้ถึงกรณีที่ 3 เลยจะดีที่สุด
กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์ ศูนย์ตรวจ และรักษาภาวะนอนกรน และการนอนหลับที่ผิดปกติ ยินดีให้บริการ และให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหานอนกรน แก้อาการนอนกรน ผู้หญิง-ผู้ชาย และหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea) โดยการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) พร้อมสำหรับการตรวจการนอนกรน sleep test อย่างละเอียดที่ได้ผลแม่นยำที่สุด จากแพทย์เฉพาะทางที่ได้รับการรับรองจาก American Board of Sleep Medicine และเจ้าหน้าที่ ที่คอยให้บริการอย่างอบอุ่น สุภาพ และเป็นกันเอง ในบรรยากาศที่พักส่วนตัวที่เงียบสงบ และร่มรื่น
กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์
ศูนย์ตรวจรักษาภาวะนอนกรน และนอนไม่หลับ
เพื่อให้การนอนของคุณ เป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนอย่างแท้จริง
โทรปรึกษา 064-649-1919, 02-089-8687