Sleep test ตรวจการนอนหลับ และสุขภาพการนอนของคุณ

ผศ.นพ.ธีรเดช คุปตานนท์

Sleep test ตรวจการนอนหลับ และสุขภาพการนอนของคุณ


ถ้าอยากรู้ว่าตัวเองนอนกรนหรือเปล่า ถามสามีหรือภรรยาก็สิ้นเรื่อง?”

“ลองใช้มือถืออัดเสียงกรน ดูก่อนมั้ย?”

“ทำไมเราต้องไปตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test ด้วยล่ะ?”

คำถามเหล่านี้ อาจจะเป็นเรื่องที่หลายคนนึกสงสัย เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก หากต้องลงทุนไปตรวจการนอนหลับเป็นเรื่องเป็นราว เพียงเพราะต้องการทราบว่าตัวเองนอนกรนหรือไม่


แท้จริงแล้ว “การกรน” ไม่ใช่จุดจบของเรื่องนี้ “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” ที่อาจแฝงอยู่นั้นต่างหาก จะเป็นตัวที่ค่อยๆ ทำให้ร่างกายของคุณพัง

การตรวจ Sleep test (หรือ sleeping test) สามารถค้นหาความอันตรายที่แฝงอยู่ในตัวคุณจากการนอนหลับ และทราบรายละเอียดที่สำคัญมากมาย เพื่อที่จะทำให้คุณได้ป้องกันและรักษาก่อนที่จะสายเกินไป


ลองอ่านดูสักนิด แล้วจะรู้ว่า sleep test สำคัญกับเราและคนที่เรารักมากแค่ไหน

 

สารบัญ

 

การตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep test คืออะไร?

Sleep test หรือ Sleeping Test คือ การตรวจการนอนหลับ เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการนอน โดยติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกาย เช่น คลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ รวมทั้งประเมินความรุนแรงของโรค เพื่อนำข้อมูลมาวินิจฉัยและให้การรักษา


“Sleep test หรือ Sleeping test เป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไป ในทางการแพทย์เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า Sleep study หรือ Polysomnography”

 

sleep test ตรวจการนอนกรน

>กลับสู่สารบัญ

 

ทำไมถึงควรเข้ารับการตรวจ Sleep test

ร่างกายของเราต้องการการพักผ่อนที่มีคุณภาพอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนอนหลับ ซึ่งถือเป็นการพักผ่อนที่สำคัญที่สุด หลังจากที่ทำงานอย่างเหนื่อยล้ามาทั้งวัน เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้ฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่

แต่หากเรานอนหลับได้ไม่เพียงพอ หรือการนอนไม่ได้คุณภาพแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งบางครั้งอาจเป็นอันตรายมากกว่าที่เราคิด

การตรวจSleep test ถือเป็นขั้นตอนการตรวจที่เป็นมาตรฐาน สำหรับการตรวจการนอนหลับและคุณภาพการนอน โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ เพื่อติดตามการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายขณะที่นอนหลับเพื่อค้นหา “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” ที่อาจแฝงอยู่

>กลับสู่สารบัญ

 

ตรวจ Sleep test วัดอะไรได้บ้างระหว่างหลับ

การตรวจ sleep test จะมีการติดอุปกรณ์ ที่ใช้ติดตาม การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายระหว่างหลับ 

ได้แก่

  • คลื่นไฟฟ้าสมอง ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวของลูกตา: บอกความตื้นลึก หรือระยะของการนอนหลับ และแยกจากภาวะตื่น
  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ: บอกว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ในช่วงที่หยุดหายใจ
  • ลมหายใจผ่านเข้าออกจมูกปาก และการเคลื่อนไหวของทรวงอกกับท้อง : ช่วยแยกระหว่างการหายใจที่ปกติ และการหยุดหายใจ รวมทั้งบอกชนิดของการหยุดหายใจ
  • ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด: บอกความรุนแรงของการลดลงของปริมาณออกซิเจนในเลือด

นอกจากนี้ยังมีการถ่ายวิดีโอเพื่อสังเกตท่าทางการนอน และความผิดปกติทางพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นขณะหลับ เช่น การนอนละเมอ หรือนอนแขนขากระตุก เป็นต้น

เมื่อรวบรวมผลจากการตรวจการนอนหลับเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะสามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ พร้อมทั้งประเมินความรุนแรงของอาการได้ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอนขากระตุกขณะหลับ ภาวะเคลื่อนไหวและพฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ ภาวะนอนไม่หลับ และความผิดปกติของการนอนหลับชนิดอื่น ๆ


ดังนั้น จึงทำให้ผู้เข้ารับการตรวจ เข้าใจภาวะการนอนหลับของตัวเองอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะผิดปกติที่อาจไม่เคยสังเกตได้มาก่อน ซึ่งจะช่วยในการวางแผนและติดตามการรักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป

>กลับสู่สารบัญ

 

ใครบ้าง ที่ควรเข้าไปตรวจการนอนหลับ

เราสามารถประเมินตัวเองได้ง่าย ๆ ว่าควรเข้ารับการตรวจ sleep test หรือไม่? โดยดูจากอาการผิดปกติหรือพิจารณาว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ดังนี้

อาการผิดปกติที่ควรตรวจ sleep test

  1. มีอาการนอนกรน
  2. มีเสียงกรนหยุดเป็นพักๆ พลิกตัวบ่อยๆ
  3. ตื่นนอนบ่อย ๆ, สะดุ้งตื่น, หรือตื่นนอนเพราะหายใจแรงหรือหายใจติดขัด
  4. นอนกัดฟัน ปัสสาวะรดที่นอน นอนละเมอ ฝันร้ายบ่อย ๆ หรือนอนกระตุก โดยเราอาจรู้ตัวเอง หรือมีคนใกล้ตัวบอก
  5. มักนอนไม่หลับ หรือนอนหลับได้ไม่เต็มอิ่ม (โดยเฉพาะกรณีที่มีอาการเช่นนี้มากกว่า 3 วัน/สัปดาห์)
  6. ปวดศีรษะหลังตื่นนอน ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น หรือมีอาการอ่อนเพลียหลังตื่นนอนเป็นประจำ
  7. รู้สึกง่วงนอนมากตอนกลางวัน แม้จะเข้านอนตรงเวลาหรือนอนหลับได้เพียงพอแล้ว
  8. หายใจเหนื่อย หรือสงสัยว่าตัวเองมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

สามารถทำแบบประเมิน Epworth sleepiness scale เพื่อเช็คว่าตัวเองมีอาการง่วงผิดปกติหรือไม่?

แบบทดสอบ ง่วงผิดปกติ

 โดยให้คะแนน 0 = ไม่เคยง่วง, 1 = ง่วงเล็กน้อย, 2 = ง่วงปานกลาง, 3 = ง่วงมาก

หากว่าเราได้คะแนนรวมกันมากกว่า 9 คะแนนขึ้นไป แสดงว่าเรามีภาวะง่วงมากผิดปกติ และควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจ sleep test

กลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับการตรวจ sleep test

  1. ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติ
  2. ผู้ป่วยโรคประจำต่าง ๆ ได้แก่ หัวใจวาย ไตวาย เบาหวาน และความดันโลหิตสูง
  3. ผู้ที่แพทย์ได้วินิจฉัยว่าอาจเป็นโรคลมหลับ (Narcolepsy) หรือมีภาวะชักขณะนอนหลับ
Sleep test ใครเสี่ยงบ้าง

STOP-BANG : คุณคือกลุ่มเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ ?

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นหนึ่งในสาเหตุอันดับต้น ๆ ของปัญหาการนอนหลับที่นำไปสู่โรคร้ายแรงได้มากมาย เราจึงได้นำเสนอ STOP-BANG ซึ่งเป็นชุดคำถามที่มีประสิทธิภาพที่ดีในการคัดกรองภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยตนเอง 

โดยมีคำถามดังนี้

  1. Snoring : คุณนอนกรนเสียงดังหรือไม่?
  2. Tired : คุณรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หรือง่วงนอนในตอนกลางวันบ่อย ๆ หรือไม่?
  3. Observed : เคยมีใครทักคุณว่าคุณมีอาการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่?
  4. Pressure : คุณมีอาการหรือกำลังได้รับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่?
  5. BMI : คุณมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 kg/m2 หรือไม่?
  6. Age : คุณมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปหรือไม่? (ให้นับตั้งแต่อายุ 51 ปี)
  7. Neck : คุณมีเส้นรอบคอมากกว่า 40 เซนติเมตรขึ้นไปหรือไม่? (ให้นับตั้งแต่ 41 เซนติเมตร)
  8. Gender คุณเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง (ผู้ชายมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิง)

หากเข้าข่ายมากกว่า 3 ข้อขึ้นไป ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 

อาการ เสี่ยงหยุดหายใจ

(ยิ่งเข้าเกณฑ์หลายข้อ ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมีอาการรุนแรงขึ้น) สำหรับคนที่อ่านมาถึงหัวข้อนี้ ให้ลองทำดูนะครับ


นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ได้เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการดังที่กล่าวมา ก็สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเพื่อประเมินความเสี่ยงได้เช่นกัน

>กลับสู่สารบัญ

 

เด็กก็ควรเข้ารับการตรวจ sleep test เช่นกัน ถ้า…

  • อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
  • สังเกตว่ามีท่านอนที่ผิดปกติบ่อย ๆ เช่น นอนกรนเสียงดัง อ้าปากหายใจ นอนตะแคง หรือนอนควํ่า
  • ตื่นนอนยาก
  • มีอาการง่วงบ่อย ๆ ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย และความจำแย่ลง
  • ปัสสาวะรดที่นอนในเวลากลางคืน
  • เด็กอายุขวบปีแรกที่สงสัยว่าเวลานอนหลับอาจมีช่วงหยุดหายใจ
  • เด็กที่มีความผิดปกติของช่องปาก จมูก ลำคอ
  • เด็กที่มีอาการนอนกรนหรือหายใจลำบากเวลานอน ซึ่งอาจมาจากความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในช่องคอ 

>กลับสู่สารบัญ

 

ประเภทของการตรวจการนอนหลับ (classification of sleep test)

การตรวจการนอนหลับมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับความละเอียดของการตรวจ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับได้แก่

Sleep test ที่ไหนดี

ระดับที่ 1  การตรวจการนอนหลับแบบสมบูรณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดทั้งคืน 
(Comprehensive Technician-attended Polysomnography)

การตรวจประเภทที่ 1 นี้ เป็นการตรวจที่มีความแม่นยำสูงสุด โดยจะต้องตรวจที่ศูนย์ตรวจการนอนหลับ (sleep laboratory) 

และมีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตการนอนหลับตลอดทั้งคืน


การตรวจการนอนหลับแบบนี้จะประกอบด้วย 7 ช่องสัญญาณ (channel) ซึ่งเป็นตามมาตรฐานสากล ได้แก่

  • คลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram; EEG) 
  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram; ECG/EKG)
  • คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อลูกตา (Electrooculogram; EOG)
  • คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อใต้คาง (Chin Electrooculogram;  Chin EMG)
  • คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อขา (Leg Electrooculogram;  Leg EMG)
  • การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด (SpO2)
  • การตรวจวัดลมหายใจ

นอกจากนี้ การตรวจชนิดนี้จะยังแบ่งออกเป็นการตรวจย่อยได้อีก 2 แบบ ได้แก่

  1. Full night sleep test เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ
    (sleep related breathing disorder, SBD) และโรคที่มีความผิดปกติในขณะหลับ อื่นๆ (sleep disorder) โดยมีการตรวจแบบทั้งคืน
  2. Split night sleep test เป็นรูปแบบการตรวจที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน มีวิธีการคือ
    จะแบ่งการตรวจเป็น 2 ส่วนภายในการตรวจเพียงคืนเดียว ซึ่งครึ่งคืนแรกจะเป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับการนอนหลับ
    ในขณะที่ครึ่งคืนหลัง จะใช้ในการรักษาและปรับตั้งเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP titration)

ระดับที่ 2 การตรวจการนอนหลับแบบสมบูรณ์ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดทั้งคืน
(Comprehensive unattended portable Polysomnography)

การตรวจประเภทที่ 2 นี้ เป็นการตรวจการนอนหลับแบบสมบูรณ์ (7 ช่องสัญญาณ) ซึ่งมีข้อดีในแง่ของความเป็นส่วนตัว และความรู้สึกคุ้นเคยกับสถานที่นอนของผู้เข้ารับการตรวจ เนื่องจากจะใช้สถานที่นอนเป็นห้องนอนที่บ้าน หรือที่พักของผู้เข้ารับการตรวจเอง โดยไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระหว่างคืนที่ตรวจ

การตรวจชนิดนี้เป็นการตรวจการนอนหลับแบบสมบูรณ์ (7 channel) ที่ห้องนอนที่บ้านหรือที่พักของผู้เข้ารับการตรวจเอง โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระหว่างคืนที่ตรวจ นอกจากนี้ การตรวจดังกล่าว จะให้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือได้ใกล้เคียงกับการตรวจระดับที่ 1 

แต่มีข้อจำกัดคือ หากอุปกรณ์การตรวจ หรือสายต่อพ่วงอุปกรณ์หลุดขณะนอนหลับ หรือลุกเข้าห้องน้ำ อาจทำให้ผลการตรวจไม่สมบูรณ์ได้ การตรวจชนิดนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เคลื่อนไหวลำบาก

ระดับที่ 3 การตรวจสุขภาพการนอนแบบจำกัดข้อมูล 
(Modified portable sleep apnea testing)

การตรวจนี้จะมีการตรวจที่จำกัดลง ได้แก่ การตรวจลมหายใจ การเคลื่อนไหวของหน้าอกและหน้าท้อง วัดระดับออกซิเจนในเลือด วัดระดับเสียงกรน และบางครั้งอาจมีการวัดคลื่นหัวใจร่วมด้วย


ข้อดีของการตรวจ ประเภทนี้ก็คือ จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าระดับที่ 1 และ 2 ในขณะเดียวกัน ก็มีความละเอียดน้อยกว่า เช่น ไม่ได้วัดคลื่นสมอง เพื่อบ่งบอกระยะการหลับตื้น หรือหลับลึกของผู้เข้ารับการตรวจ เป็นต้น

ระดับที่ 4 การตรวจระดับออกซิเจนในเลือด และ/หรือ วัดลมหายใจขณะหลับ 
(Single or dual channel portable sleep test)

การตรวจ sleep test ประเภทที่ 4 จะติดตามช่องสัญญาณข้อมูลไม่เกิน 3 อย่าง เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถตรวจระดับที่ 1 ถึงระดับที่ 3 ได้ 

>กลับสู่สารบัญ

 

แล้วเราเหมาะที่จะเลือกตรวจ sleep test แบบไหน?

Sleep test แบบไหนดี

ผู้ที่ต้องการการตรวจที่แม่นยำ และวินิจฉัยอาการต่าง ๆ ได้ครบถ้วน

การตรวจ sleep test ระดับที่ 1 (ศูนย์ตรวจการนอนหลับ) เป็นการตรวจการนอนหลับแบบสมบูรณ์ ถือว่าเป็นการตรวจการนอนหลับที่ได้ผลแม่นยำที่สุด ซึ่งในปัจจุบัน การตรวจระดับที่ 1 ชนิด Split night sleep test จะทำให้สามารถวัดค่าความดันลม ที่เหมาะสมกับการรักษาภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ โดยใช้เครื่องอัดอาการแรงดันบวก (CPAP) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ที่ไม่สะดวกในการเดินทาง หรือมีปัญหาในการนอนในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย

การตรวจ sleep test ระดับที่ 2 (อยู่บ้านหรือที่พักตัวเอง) ถือว่าได้มาตรฐานใกล้เคียงกันกับระดับที่ 1 แต่มีข้อควรระวังของการตรวจระดับที่ 2 คือ อาจจะมีสายสัญญาณวัดตัวแปรสำคัญหลุด หรือเลื่อนในขณะหลับ และไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงทีเหมือนการตรวจระดับที่ 1 ทำให้ไม่สามารถประเมินผลได้และอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจใหม่

ข้อแนะนำ: ผู้สนใจเข้ารับการตรวจควรปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับโดยเฉพาะ เพื่อประเมินแนวทางการตรวจ sleep test ที่เหมาะสมกับตัวเอง


>กลับสู่สารบัญ

 

สรุป

เชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านน่าจะได้คำตอบกันแล้ว สำหรับคำถามที่ว่า “ทำไมเราต้องไปตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test ด้วยล่ะ?” 

เพราะการตรวจการนอนหลับนั้น ไม่ได้จบลงเพียงแค่ว่า “เรานอนกรนหรือไม่นอนกรน?” 

แต่มีรายละเอียดสำคัญมากมาย ที่เราสามารถวิเคราะห์ได้จากการเข้าไปตรวจ โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และความผิดปกติของการนอนหลับชนิดอื่น ๆ

เราควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินเบื้องต้นว่า ควรเข้ารับการตรวจ sleep test หรือไม่? 


อย่างไรก็ดี ก็มีแนวทางในการประเมินตัวเองได้ง่าย ๆ โดยสังเกตจากอาการผิดปกติต่าง ๆ หรือพิจารณาว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ 


นอกจากนี้ เราอาจใช้ชุดคำถาม STOP-BANG หากสงสัยว่าตัวเองมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ



หากสนใจที่จะเข้ารับการตรวจ sleep test ที่ กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์ (Bangkok Sleep Center) 

เรามีบริการตรวจรักษาปัญหาด้านการนอน, ตรวจการนอนหลับ (Sleep test), 

และการรักษานอนกรนด้วยเครื่อง CPAP โดยท่านสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่เบอร์ 02-089-8687

>กลับสู่สารบัญ

กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์ พร้อมให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหานอนกรน แก้อาการนอนกรน ผู้ชาย-ผู้หญิง พร้อมบริการรักษาภาวะนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea) โดยการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) โดยแพทย์เฉพาะทางที่ได้รับการรับรองจาก American Board of Sleep Medicine และเจ้าหน้าที่ ที่คอยให้บริการอย่างอบอุ่น สุภาพ และเป็นกันเอง ในบรรยากาศที่พักส่วนตัวที่เงียบสงบ และร่มรื่น

ศูนย์ Sleep lab ที่ให้การตรวจการนอนหลับ (sleep test) ของคุณ
เป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนอย่างแท้จริง
โทรปรึกษา 064-649-1919, 02-089-8687

บทความอื่นๆ

Shopping Basket