อันดับแรกเราต้องแยกให้ออก ระหว่างอาการ หลงลืมทั่วไป กับ ภาวะสมองเสื่อม
ก่อนอื่นมาดูหลักการทำงานของสมองในการจดจำ โดยทั่วไป สมองจะมีการบันทึกความจำ จากนั้นข้อมูลที่เราต้องการใช้งานนั้นจะมีการถูกเรียกออกมาใช้ แต่ในบางกรณี เช่น เวลาที่เราจะเดินไปหยิบอะไรนั้น เกิดลืมว่าจะมาหยิบอะไร เราเรียกอาการนี้ว่า หลงลืม เนื่องจากไม่ได้มีการบันทึกความจำตั้งแต่แรก เพราะจิตใจไม่ได้จดจ่ออยู่ตรงนั้น หรืออาจทำหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
ส่วนกรณี เช่น เราแขวนกุญแจไว้ที่ผนังบ้าน แต่เมื่อถึงเวลาจะใช้ เรากลับไปหาในกระเป๋าถือ แต่ถ้าโดยปกติเราเก็บไว้ในกระเป๋าเป็นประจำ แต่วันนี้ไปแขวนไว้ที่ผนัง จึงทำให้เราหลงลืมได้ กรณีนี้ถือว่าปกติ
แต่หากโดยปกติเราแขวนไว้ที่ผนังเป็นที่ประจำ แต่พอเราจะใช้ เรากลับไปหาในกระเป๋า นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า เริ่มมี ภาวะสมองเสื่อม หรืออีกกรณีที่เห็นได้ชัด เช่น เราให้นาฬิกาเพื่อนไปใช้ พอผ่านไปสักพัก มาเจอกันอีกครั้ง เห็นเพื่อนใส่นาฬิกาเราอยู่ แล้วเราลืมเหตุการณ์ที่เราให้เพื่อนไปเมื่อไหร่ ทำไมเพื่อนใส่นาฬิกาเราอยู่ เหตุการณ์เช่นนี้เราอาจไม่รู้ตัว อาจจะมีเพื่อน หรือคนในครอบครัวบอกถึงความผิดปกตินี้ ซึ่งจำเป็นต้องไปตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อให้การรักษาก่อนที่จะเพิ่มภาวะนี้ไปอยู่ในระดับที่รุนแรง
ซึ่งสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น สมองขาดออกซิเจน เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ความดันต่ำ หรือเกิดจากพยาธิสภาพโครงสร้างภายในสมอง เรามาดูสัญญาณเตือนภาวะสมองเสื่อมกันค่ะ
10 Check List ที่บ่งบอกว่ามีความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อม
1. สูญเสียความจำระยะสั้น จนกระทบกับกิจวัตรประจำวัน
2. ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำประจำได้
3. มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น นึกคำไม่ออก เรียบเรียงเรื่องราวไม่ได้
4. สับสนเวลา สถานที่
5. ดุลยพินิจบกพร่อง
6. สติปัญญาด้อยลง ปฏิเสธที่จะทำหรือคิดเรื่องซับซ้อน
7. วางของผิดที่ผิดทาง
8. อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็ว
9. บุคลิกภาพและพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ใส่เสื้อผ้าสีสันฉูดฉาดทั้งๆที่ไม่เคยใส่ หรือ ใส่เสื้อผ้าหน้าหนาว ในช่วงฤดูร้อน เป็นต้น
10. ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นคนเฉื่อยๆไม่กระตือรือร้น นั่งเหม่อโดยไม่ทำอะไร
ซึ่งภาวะสมองเสื่อมนี้ผู้ที่จะสามารถให้ข้อมูลกับผู้ป่วยและแพทย์ได้นั้น คือ ญาติ หรือคนที่ดูแลใกล้ชิด ที่สามารถเห็นถึงสัญญาณเตือนนี้ได้