นอนกรน เป็นอาการที่คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่อันตราย และคิดว่าเป็นเพียงอาการที่สร้างความน่ารำคาญ หรือเรื่องขบขันที่เอามาล้อเลียนกัน แต่แท้จริงแล้วเป็นภาวะที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายสูงหากมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย เช่น เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต อัลไซเมอร์ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

สารบัญ
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ OSA คืออะไร?
- ความสัมพันธ์ระหว่างโรคนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- อาการหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- วิธีสังเกตเบื้องต้น ว่าคุณเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- มีอาการใดหรือไม่ ที่บ่งชี้ว่าเรามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับอยู่ในระดับรุนแรง
- 7 สาเหตุที่ทำให้อาการหยุดหายใจขณะหลับ รุนแรงขึ้น
- ชุดคำถามง่าย ๆ เพื่อเช็คว่าคุณเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่?
- หยุดหายใจขณะหลับเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง
- อายุ 60 ปีขึ้นไป เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น
- เฝ้าระวังลูกนอนกรน อาจหยุดหายใจขณะหลับ
- ตรวจหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย Sleep test
- วิธีการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีอะไรบ้าง?
- สรุป
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ OSA คืออะไร?
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มาจากภาษาอังกฤษคือ Obstructive Sleep Apnea หลายคนจึงนิยมเรียกแบบย่อ ว่า OSA (โอเอสเอ)
OSA คือ ภาวะที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนถูกปิดกั้นในขณะที่นอนหลับ อากาศไหลผ่านได้ลำบาก ทำให้มีอาการหยุดหายใจเป็นพักๆ โดยในช่วงที่ขาดอากาศ ร่างกายได้รับออกซิเจนลดลง ส่งผลต่ออวัยวะที่สำคัญและไวต่อการขาดเลือด เช่น สมอง หัวใจ

ความสัมพันธ์ระหว่างโรคนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
นอนกรน (snoring) เกิดจากการทางเดินหายใจส่วนบน บริเวณลำคอและโคนลิ้น ตีบแคบลง ทรวงอกต้องออกแรงหายใจเข้าและออกรุนแรงขึ้น เพื่อดันอากาศให้ผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณช่องคอ เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น
แต่ถ้ามีอาการมากจนกระทั่งผู้ป่วยหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ ลักษณะนี้เรียกว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) นั่นเอง
อาจกล่าวได้ว่า ทั้งสองอาการนี้มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อกัน (คือพบว่าเกิดขึ้นร่วมกันบ่อยครั้ง) แต่ไม่จำเป็นว่า ทุก ๆ คนที่นอนกรน ต้องมีภาวะ OSA เสมอไป แต่ก็มีความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง จึงจำเป็นต้องมีการสังเกตและตรวจสอบเพิ่มเติม
นอนกรนแบบไหน ถือว่าไม่ธรรมดา?
อาการนอนกรนมีอยู่ 2 ประเภท คือ
- อาการนอนกรนธรรมดา (Snoring )เป็นการนอนกรนที่ไม่มีการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ถือว่าไม่มีอันตรายมากนัก แต่ก็สร้างความรำคาญให้แก่คนที่นอนข้าง ๆ และอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมได้ ได้แก่ ผู้ป่วยเสียความมั่นใจ หรือเกิดปัญหาความสัมพันธ์
- อาการนอนกรนอันตราย คือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) ร่วมด้วย ซึ่งนอกจากจะเกิดปัญหาตามข้อ 1 ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยโดยตรง เพราะทำให้นอนหลับไม่มีคุณภาพ หลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นบ่อย
อาการหยุดหายใจขณะหลับ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
หลาย ๆ คนที่กำลังนอนหลับอยู่ แล้วมีกายวิภาคของกล้ามเนื้อในช่องคอหรือลิ้น ในลักษณะดังนี้
- กล้ามเนื้อในช่องคอหย่อนคล้อย หรือตีบแคบลง ไปอุดกั้นช่องทางเดินหายใจ
- มีไขมันในช่องคอมากทำให้ช่องทางเดินหายใจตีบแคบ
- มีช่องคอที่แคบโดยกำเนิด หรือมีโครงหน้าที่เป็นอุปสรรคต่อทางเดินหายใจ เช่น คางสั้น โคนลิ้นใหญ่ ช่องจมูกคด
- มีก้อนในช่องทางเดินหายใจ เช่น ต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โต เป็นสาเหตุหลักของการนอนกรนและเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก
- ลักษณะอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการไหลผ่านของอากาศ
ลักษณะดังกล่าว ทำให้อากาศไม่สามารถไหลผ่านได้ในบางช่วงของการนอนหลับ จนเกิดภาวะพร่องออกซิเจน และเกิดการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรดมากขึ้น ซึ่งจะไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ให้กล้ามเนื้อต่างๆ กลับมาทำงานให้หายใจได้ปกติ
โดยในช่วงนี้สมองจะตื่นตัว ร่างกายตื่นจากหลับลึก มาเป็นหลับตื้น ทำให้บางคนสะดุ้งตื่นขึ้น บางคนสำลัก ภาวะดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ ระดับวินาที และเกิดขึ้นหลายครั้งในคืนเดียว
ผลจากการที่ต้องสะดุ้งตื่นบ่อยๆ ทำให้มีอาการง่วงนอนตอนกลางวันมากกว่าปกติ และสมรรถภาพต่างๆ ในการทำงานแย่ลง ส่งผลเสียอื่นๆ ตามมา เช่น ง่วงนอนตอนขับรถ ไม่สามารถมีสมาธิทำงาน และส่งผลต่อบุคลิกภาพ และการอยู่ร่วมในสังคม รวมถึงส่งผลกระทบด้านสุขภาพร้ายแรงของผู้ป่วยที่จะตามมาในระยะยาวอีกด้วย
วิธีสังเกตเบื้องต้น ว่าคุณเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
แนวทางในการตรวจสอบเบื้องต้น ว่าตัวเราเองมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับในช่วงที่นอนกรนหรือไม่ ผู้ป่วยสามารถ สังเกตอาการได้ด้วยตนเอง ดังนี้

- มีอาการง่วงนอนมากหรืออ่อนเพลียมากผิดปกติในช่วงกลางวัน บางรายอาจรู้สึกง่วงมากหลังขับรถ แม้ว่ากลางคืนจะนอนมาเยอะแล้ว
- ตื่นนอนแล้วมักมีอาการมึนศีรษะ หรือปวดศีรษะ บางรายอาจรู้สึกหนักหัวหรือมึนหัวมากจนแทบลุกไม่ไหวและอยากนอนต่อ
- รู้สึกคอแห้งหรือเจ็บคอบ่อย ๆ หลังตื่นนอน
- มีอาการนอนหลับไม่สนิท ตื่นนอนบ่อย ๆ หรือสะดุ้งตื่นเพราะสำลัก (เหมือนขาดอากาศหายใจ) บางรายมีเหงื่อออกเวลากลางคืน
- รู้สึกว่าตัวเองสมาธิสั้น ไม่จดจ่อ หลงลืมง่าย หงุดหงิดบ่อย บางรายมีปัญหาเหล่านี้มากจนกระทบต่อการเรียน การทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน

อาการที่สอบถามได้จากคนใกล้ตัว
หากคู่สมรสหรือคนใกล้ตัวมาบอกว่าคุณมีอาการนอนกรน ให้ถามข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
- สังเกตว่ามีอาการหยุดหายใจหรือไม่? อาจจะเริ่มจากนอนกรนเสียงดัง แล้วมีช่วงหนึ่งที่เสียงหายไป หรือเงียบจนไม่ได้ยินเสียงหายใจ แล้วอาจตามด้วยเสียงหายใจเฮือกอีกครั้ง
- เราเหงื่อออกตอนนอน เวลากลางคืนหรือไม่?
- เรามีอาการนอนหลับไม่สนิท กระสับกระส่าย ดิ้นเปลี่ยนท่าบ่อยหรือไม่?
- เรามีการสะดุ้งตื่นเหมือนขาดอากาศหายใจหรือไม่?
- สังเกตว่าบุคลิกภาพของเราเปลี่ยนไปหรือไม่? เช่น เครียดหรือหงุดหงิดง่ายขึ้น สมาธิสั้น หลงลืมบ่อย มีอาการงง ๆ เหม่อลอยไม่มีสติ ดูอ่อนเพลียไม่กระฉับกระเฉง เป็นต้น
หากคนใกล้ตัวบอกว่าเรามีอาการเหล่านี้ แสดงว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเข้ารับการตรวจ Sleep Test เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำต่อไป (internal link “Sleep Test”)
อาการใดบ้าง ที่บ่งชี้ว่าเรามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อยู่ในระดับรุนแรง
บางท่านอาจเข้าใจว่า หากกรนเสียงดังมาก หรือง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน แปลว่ามีอาการอยู่ในระดับที่รุนแรง แต่ที่จริงแล้ว อาการเหล่านี้ยังไม่สามารถใช้เป็นสัญญาณเตือนได้ว่าผู้ป่วยมีโรคอยู่ในระดับที่รุนแรงมาก เนื่องจากในผู้ป่วยแต่ละราย อาจมีอาการเหล่านี้แตกต่างกันไป เช่น บางรายมีอาการง่วงนอนมากโดยที่ตัวโรคเป็นเพียงเล็กน้อย ในขณะที่บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ ทั้งที่มีโรคอยู่ในระดับรุนแรงมาก เป็นต้น
ดังนั้นการประเมิณระดับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่แม่นยำที่สุด คือ การหาดัชนีการหายใจผิดปกติ (Apnea Hypopnea Index; AHI) จากการตรวจการนอนหลับ (Sleep test)
โดยจะแบ่งระดับความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ ตามดัชนีการหายใจผิดปกติที่ตรวจพบ ดังนี้
1.ดัชนีการหายใจผิดปกติ น้อยกว่า 5 ครั้ง/ชั่วโมง นับว่า ปกติ
- ดัชนีการหายใจผิดปกติ 5-15 ครั้ง/ชั่วโมง นับว่า รุนแรงน้อย
3.ดัชนีการหายใจผิดปกติ 15-30 ครั้ง/ชั่วโมง นับว่า รุนแรงปานกลาง
4.ดัชนีการหายใจผิดปกติ มากกว่า 30 ครั้ง/ชั่วโมง นับว่า รุนแรงมาก
7 สาเหตุที่ทำให้อาการหยุดหายใจขณะหลับ รุนแรงขึ้น
เราได้รู้กันไปแล้วว่า กายวิภาคที่ผิดปกติ เป็นสาเหตุเบื้องต้นของอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่อาการดังกล่าวรุนแรงขึ้นได้จากปัจจัยส่งเสริมดังนี้
- อายุ : เมื่อมีอายุมากขึ้น กล้ามเนื้อก็เริ่มไม่แข็งแรงเหมือนเดิม โดยจะค่อย ๆ หย่อนยาน จนอาจไปอุดกั้นช่องทางเดินหายใจให้แคบลงได้
- เพศ : เพศชายจะเป็นโรคนอนกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าผู้หญิง เพราะฮอร์โมนของเพศหญิงมีส่วนทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจ มีความตึงตัวที่ดีกว่าของเพศชายนั่นเอง อย่างไรก็ตาม เพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนก็จะพบว่ามีความเสี่ยงที่จะมีภาวะดังกล่าวได้สูงขึ้น
- ความอ้วน : การสะสมของไขมันมากบริเวณลำคอและทรวงอก จะไปลดช่องว่างทางเดินหายใจให้ตีบแคบลง นอกจากนี้ ยังอาจทำให้การเคลื่อนไหวของหน้าอกแย่ลงอีกด้วย
- กรรมพันธุ์ : ภาวะนอนกรนและภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ เป็นอาการที่สามารถส่งต่อได้ทางกรรมพันธุ์
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : สุรา ยาคลายเครียด และยานอนหลับ จะไปทำให้กล้ามเนื้อลำคออ่อนแรงลง จนอาจไปอุดตันทางเดินหายใจได้ง่าย นอกจากนี้ แอลกอฮอล์และยาบางชนิด จะไปกดการทำงานของสมองให้ช้าลงกว่าปกติ
- การสูบบุหรี่ : คนที่สูบบุหรี่จะทำให้การทำงานของระบบทางเดินหายใจมีประสิทธิภาพที่แย่ลง
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น การเป็นหวัดคัดจมูก การกำเริบของภาวะภูมิแพ้จมูก ภาวะอดนอน หรือการกินยานอนหลับบางชนิด เป็นต้น
ชุดคำถามง่าย ๆ เพื่อเช็คว่าคุณเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่?
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นหนึ่งในสาเหตุอันดับต้น ๆ ของปัญหาการนอนหลับที่นำไปสู่โรคร้ายแรงได้มากมาย เราจึงได้นำเสนอ STOP-BANG ซึ่งเป็นชุดคำถามที่มีประสิทธิภาพที่ดีในการคัดกรองภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยตนเอง โดยมีคำถามดังนี้
- Snoring : คุณนอนกรนเสียงดังหรือไม่?
- Tired : คุณรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หรือง่วงนอนในตอนกลางวันบ่อย ๆ หรือไม่?
- Observed : เคยมีใครทักคุณว่าคุณมีอาการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่?
- Pressure : คุณมีอาการหรือกำลังได้รับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่?
- BMI : คุณมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 kg/m2 หรือไม่?
- Age : คุณมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปหรือไม่? (ให้นับตั้งแต่อายุ 51 ปี)
- Neck : คุณมีเส้นรอบคอมากกว่า 40 เซนติเมตรขึ้นไปหรือไม่? (ให้นับตั้งแต่ 41 เซนติเมตร)
- Gender คุณเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง (ผู้ชายมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิง)
หากเข้าข่ายมากกว่า 3 ข้อขึ้นไป ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (ยิ่งเข้าเกณฑ์หลายข้อ ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมีอาการรุนแรงขึ้น) สำหรับคนที่อ่านมาถึงหัวข้อนี้ ให้ลองทำดูนะครับ
หยุดหายใจขณะหลับ เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง อะไรบ้าง?
ปัญหาของอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ไม่ได้มีเพียงแค่ นอนไม่มีคุณภาพ ตื่นมาไม่สดชื่น ง่วงนอนตอนกลางวัน แต่ยังมีผลกระทบอื่น ๆ ที่ควรทราบอีก ได้แก่
โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
มีรายงานว่า คนที่เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แล้วไม่ได้เข้ามารักษา จะเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จะตามมา มีทั้งโรคเรื้อรัง ได้แก่ อาการสมรรถภาพทางเพศลดลง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะสมองเสื่อม และโรคซึมเศร้า
นอกจากนี้ ยังมีโรคที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ได้แก่ โรคหัวใจวายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง บางโรคอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
ฮอร์โมนสำคัญในร่างกายปั่นป่วนหรือเสียสมดุล
การเจริญเติบโตของร่างกายเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ต้องอาศัยการทำงานของฮอร์โมนหลายชนิด แต่มีฮอร์โมนอยู่ชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญมากต่อร่างกาย นั่นคือ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone, GH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่ผลิตจากต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) ซึ่งร่างกายจะหลั่งออกมาในเวลาที่เรานอนหลับลึก
ในเด็ก หากได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพ จะทำให้ร่างกายหลั่งโกรทฮอร์โมนได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่ ทำให้มีภาวะเตี้ยและเติบโตช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน นอกจากนี้ยังทำให้มีภาวะอ้วนและมีไขมันสะสมมากอีกด้วย
ในผู้ใหญ่ หากมีปัญหาจากการนอนหลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ร่างกายก็จะทรุดโทรมเร็วมากกว่าคนทั่วไปที่หลับสนิท เนื่องจากโกรทฮอร์โมนหลั่งออกมาได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้ร่างกายฟื้นฟูหรือซ่อมแซมตัวเองได้ไม่ดีเท่าที่ควร
นอนกรน กระทบภาวะสมองเสื่อม อาจทำให้ความจำแย่ลง
คนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มักจะมีระดับการนอนอยู่ในช่วงหลับตื้น (Non-Rapid Eye Movement; NREM) อยู่ระหว่างระยะ (stage) 1-2 ตลอดคืน แปลว่าจะมีช่วงหลับลึกหรือหลับสนิทน้อยมาก (รอทำ link ไปบทความ sleep cycle)
ดังนั้น เมื่อร่างกายไม่ได้พักผ่อน แถมยังต้องทำงานหนักเพื่อปรับสมดุลออกซิเจนในเลือด จึงไม่ได้ฟื้นฟูตัวเองเท่าที่ควร ยิ่งไปกว่านั้นภาวะที่กล่าวมานั้นอาจทำให้ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงสมองมีไม่เพียงพอ จึงอาจกระทบต่อเซลล์สมองได้และทำให้มีปัญหาด้านสมาธิ ความจำ และในระยะยาวอาจเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ในที่สุด
หยุดหายใจขณะหลับ อาจกระทบต่อภาวะซึมเศร้า
เราพบงานวิจัยใหม่ที่พบความเชื่อมโยงกันระหว่าง “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” และ “การรักษาภาวะซึมเศร้า” โดยมีข้อสรุปที่น่าสนใจว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ OSA อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การรักษาภาวะซึมเศร้าล้มเหลว
โดยพบว่า มีประมาณ 20 – 30% ของคนที่มีภาวะซึมเศร้าหรือความผิดปกติทางอารมณ์อื่น ๆ ที่อาการไม่ได้ดีขึ้นจากการรักษาที่มีอยู่ โดยในภายหลัง ผู้วิจัยพบว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นสาเหตุของการดื้อต่อการรักษาภาวะซึมเศร้า (ไม่ตอบสนองต่อยารักษาโรคซึมเศร้า) นอกจากนี้ ยังพบว่า การรักษาคุณภาพการนอนหลับให้ดี อาจช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ด้วย
อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่นี่: https://www.sciencedirect.com/…/abs/pii/S0022395619302018
สรุปแล้ว ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เล่นงานอะไรเราได้บ้าง?

อายุ 60 ปีขึ้นไป เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น
ผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วงอายุ 60-70 ปี มีโอกาสเกิดภาวะการหยุดหายใจในขณะหลับเพิ่มขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาต่าง ๆ ตามอายุ เช่น สัดส่วนไขมันในร่างกายที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับสัดส่วนของกล้ามเนื้อที่ลดลง
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางกายวิภาคของทางเดินหายใจ การลดลงของฮอร์โมนไทรอยด์ (เสี่ยงต่อโรคคอพอกหรือไขมันในเลือดสูง) และปริมาตรปอดที่ลดลง ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้นด้วย
ดังนั้น บ้านไหนที่มีผู้สูงอายุต้องดูแล อย่าลืมหมั่นสังเกตเรื่องภาวะการหยุดหายใจขณะหลับของพวกท่านอยู่เนือง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
เฝ้าระวังลูกนอนกรน อาจหยุดหายใจขณะหลับ
เด็กเล็กก็มีโอกาสเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้เช่นกัน โดยมักมีสาเหตุมาจากภาวะอ้วน, ต่อมอะดีนอยด์โตขึ้นจากการติดเชื้อ, หรือต่อมทอนซิลโต ซึ่งมักเป็นในเด็กอายุระหว่าง 2 – 6 ปี
หากปล่อยให้มีอาการบ่อยครั้งในช่วงของการเจริญเติบโต อาจเป็นภัยเงียบที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก หรือทำให้เด็กเจ็บป่วยได้ง่าย และอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายได้ พ่อแม่จึงควรคอยระวังและหมั่นสังเกตลูก ๆ ให้ดี
วิธีการสังเกตภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก สามารถดูจากช่วงที่นอนหลับได้ ว่าเด็กมีอาการนอนกรนเสียงดังเป็นประจำ หรือมีอาการหยุดหายใจขณะที่กำลังหลับเป็นช่วงสั้น ๆ มีเสียงกรนหายใจหอบ ตื่นนอนระหว่างคืน หรือเหงื่อออกมากขณะหลับหรือไม่?
ตอนที่เราปลุกเด็กในช่วงเช้า น้องมีอาการงอแงอยากหลับต่อ หรือรู้สึกปวดหัวหรือไม่? นอกจากนี้ ในระหว่างวัน เด็กซนมากกว่าปกติ มีสมาธิสั้น หงุดหงิดง่ายหรือไม่?
หากเราพบว่าลูก ๆ มีอาการดังที่กล่าวมา หลายข้อหรือแค่บางส่วนก็ตาม ผู้ปกครองไม่ควรชะล่าใจเด็ดขาด ควรพาเด็กไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินหายใจเพื่อตรวจร่างกายโดยละเอียด หากมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจริง จะได้ทำการรักษาได้ทันก่อนที่จะส่งผลกระทบมากไปกว่านี้
ตรวจหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย Sleep test
สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรน หรือสงสัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจ Sleep Test
การตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep test เป็นการตรวจเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เรานอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและติดตามการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ศึกษาการทำ sleep test เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.bkksleepcenter.com/Sleep-test
Sleep test ควรทำโดยแพทย์เฉพาะทาง ภายใต้บรรยากาศที่เหมาะสม
ที่ Sleep Lab ของ กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์ เราให้การตรวจรักษาปัญหาการนอนหลับ โดยแพทย์เฉพาะทางที่ชำนาญการ เพื่อให้คุณได้รับการตรวจและรักษาที่ได้มาตรฐาน ด้วยบริการอบอุ่นเป็นกันเอง ภายใต้บรรยากาศที่ร่มรื่น เงียบสงบและผ่อนคลาย
หากสงสัยว่าตัวเองมีปัญหาด้านการนอนหลับ สามารถจองหรือติดต่อปรึกษาได้ที่ กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์ (Bangkok Sleep Center) https://www.bkksleepcenter.com/BSC-services
- แอดไลน์ @bkksleepcenter หรือ https://lin.ee/Ia7dq0
- หรือโทรศัพท์มือถือ 064 649 1919
วิธีการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีอะไรบ้าง?
หลังจากตรวจ sleep test แล้วพบว่าเรามีภาวะนอนกรนร่วมกับหยุดหายใจขณะหลับจริง แพทย์จะมีวิธีการรักษาโดยพิจารณาจากสาเหตุทางสรีรวิทยาของผู้ป่วย โดยมีทางเลือกการรักษาที่น่าสนใจ ได้แก่
- รักษาด้วยการแนะนำให้ปรับพฤติกรรม เช่น เลี่ยงการนอนหงาย (ที่จะเพิ่มโอกาสนอนกรน) การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย งดการสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการใช้ยาบางชนิด หรือการฝึกกล้ามเนื้อคอหอย เป็นต้น
- ใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก (Continuous Positive Airway Pressure) หรือ CPAP เป็นวิธีการที่นิยมใช้ที่สุด และมีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้เป็นอย่างดี
- การรักษาด้วยอุปกรณ์ทางทันตกรรม (Oral Appliance) หรือกลุ่มเครื่องมือที่ช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดกว้าง และคงสภาพไม่ให้หย่อนตัวลงในขณะนอนหลับ ซึ่งจะเหมาะกับรายที่มีอาการไม่มาก
- การใช้ยา ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุของช่องคอที่ตีบตันว่าสามารถใช้ยาในการรักษาได้หรือไม่ เช่น หากผู้ป่วยมีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) แพทย์อาจเลือกใช้ฮอร์โมนไทรอกซินในการรักษา เป็นต้น
- ใช้การผ่าตัด ซึ่งเป็นทางสุดท้ายที่แพทย์จะเลือกใช้ แต่หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด มีความผิดปกติทางกายวิภาค หรือมีภาวะอาการที่รุนแรงและส่งผลกระทบอย่างมาก แพทย์จะเลือกใช้วิธีการผ่าตัด
สรุป
นอนกรน เป็นอาการที่คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่อันตราย แต่หากมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยแล้ว อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายสูง โดยเฉพาะโรคร้ายแรงแบบเฉียบพลัน อาจทำให้ผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้
แนวทางป้องกันไม่ให้ตัวเองเสี่ยงต่อการมีภาวะหยุดหายใจ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ การควบคุมหุ่นและน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ พยายามปรับสัดส่วนโครงสร้างของร่างกาย ให้มีสัดส่วนไขมันน้อย ๆ มีสัดส่วนกล้ามเนื้อมาก ๆ เพื่อลดโอกาสการหย่อนคล้อยของกล้ามเนื้อส่วนคอ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการปรับพฤติกรรมการนอน เช่น พยายามนอนในท่าตะแคง ลดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือใช้ยาบางชนิด เพื่อลดโอกาสที่จะนอนกรน
อยากให้กำลังใจว่า โรคดังกล่าวสามารถรักษาให้หายได้ แพทย์อาจเลือกใช้หลายวิธีร่วมกัน หลายคนไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเลยด้วยซ้ำ แต่ทุกอย่างต้องเริ่มจากก้าวแรกเสมอ นั่นคือการสังเกตให้เจอว่าตนเองมีอาการผิดปกติในการนอนหลับหรือไม่? หากสงสัยว่าอาจจะมี ให้มาตรวจ sleep test กับสถาบัน sleep lab ที่ได้มาตรฐาน เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
“เพราะการนอนเป็นปฐมบทของชีวิตในวันถัดไป
ยิ่งรักษาได้เร็ว ยิ่งคืนสมดุลชีวิตได้ไว ก็จะช่วยให้ท่านได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข”