ขับรถเมื่อไหร่ ง่วงทุกครั้ง มีวิธีแก้ไขอย่างไร
การขับรถบนท้องถนนทุกวันนี้ เราอาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพราะนอกจากเราเองที่ต้องมีสติขณะขับรถแล้ว ยังต้องคอยระมัดระวังรถคันอื่นที่อาจหลับใน หรืออยู่ในอาการสะลึมสะลือ ไม่พร้อมในการควบคุมรถได้
และจากสถิติอุบัติเหตุที่เราพบกัน ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการวูบหลับ ขณะขับรถนั่นเอง
ซึ่งสาเหตุของการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือไม่ได้พักผ่อนนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะ ต้องมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
Bangkok Sleep Center มีวิธีแก้ไขอาการง่วงขณะขับรถมาแนะนำกันค่ะ
- ดื่มน้ำสะอาดเป็นระยะๆขณะขับรถ เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย
- อาจจะมีลูกอม หมากฝรั่ง ติดรถไว้ เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกง่วง ก็สามารถหยิบขึ้นมาอม เพื่อกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว หรือการเคี้ยวหมากฝรั่งก็จะช่วยให้เรามีสติมากขึ้น
- ยาดม ยานวด มีติดรถเอาไว้ เมื่อเรารู้สึกเมื่อยล้า อ่อนเพลีย สูดดมพร้อมกับหายใจเข้าลึกๆ เพื่อให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองให้เพียงพอ
- พูดคุยกับเพื่อนในรถ หาหัวข้อสนุกๆในการพูดคุยกัน หรือหากเราต้องขับรถเพียงลำพัง เราสามารถมีเพลงที่เราร้องฮัมเพลงไปด้วยได้ อยู่ในรถแล้ว เราจะร้องเพี้ยน ร้องเสียงดังแค่ไหน เต็มที่ได้เลยค่ะ เป็นการบริหารปอดไปด้วยคะ
- ถ้าง่วงจนไม่ไหวแล้วจริงๆ จอดข้างทางที่ปลอดภัย หรือ จอดที่ปั้ม ลุกจากรถไปเข้าห้องน้ำ ล้างหน้า หาผ้าเย็นกลิ่นสดชื่นๆ เดินยืดเส้นยืดสาย สัก 10 นาที ช้าไปเพียง 10 นาที แต่ทำให้เราถึงที่หมายอย่างปลอดภัยค่ะ
แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ และเป็นการแก้ไขระยะสั้นเท่านั้น หากถ้าเราสงสัยว่า ทำไมเราพักผ่อนและนอนมาเต็มที่แล้ว ก็ยังง่วงทุกครั้งเลย อาจจะต้องไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องของประสิทธิภาพการนอนหลับ ว่าขณะนอนหลับนั้น เรามีปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea : OSA ) หรือไม่ ซึ่งการสังเกตตัวเองง่ายๆที่อาจนำให้มาพบแพทย์ได้แก่
- ตื่นมารู้สึกไม่สดชื่น อ่อนเพลีย
- เจ็บคอ คอแห้ง ทุกๆเช้า
- สอบถามคนที่นอนข้างๆเราว่าเรานอนกรนหรือไม่
- มีอาการปวดศีรษะหลังตื่นนอน
- ง่วงนอนในเวลากลางวันมาก
- สมองมึนงง การตัดสินใจช้า
- หลงลืมบ่อยๆจนคนรอบข้างเริ่มทักท้วง
ซึ่งโรคจากการหลับนี้ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคความผิดปกติจากการหลับ
สาเหตุของการง่วงขณะขับรถนั้นยังมีอีกหลายๆสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นเวลานาน หรือจากยาที่รับประทานเป็นประจำที่อาจส่งผลให้ง่วงนอน ภาวะน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ซึ่งจำเป็นที่ต้องได้รับการหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะความรู้สึกง่วงนั้นมีความยากลำบากในการที่จะฝืนตัวเองไม่ให้หลับได้.