ทำไมต้องใช้เครื่อง CPAP
ภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ เป็นความผิดปกติด้านการนอนที่พบได้ในคนทั่วไป โดยสามารถเกิดได้ทั้งในผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพและผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง
ภาวะนี้เกิดจากการแฟบตัวของช่องทางเดินอากาศบริเวณลำคอหรือโคนลิ้นขณะที่นอนหลับสนิท ทำให้ช่องทางเดินอากาศตีบแคบลง เมื่อหายใจเข้า-ออกจึงเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น และหากมีอาการรุนแรง ทางเดินอากาศจะปิดสนิท ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้สมองขาดออกซิเจนขณะที่หลับสนิท สมองจึงถูกปลุกให้ตื่นจากหลับลึกขึ้นมาเป็นหลับตื้นตลอดทั้งค่ำคืน สมองและร่างกายจึงพักผ่อนไม่เต็มที่ เป็นผลให้สุขภาพเสื่อมโทรมลงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในปัจจุบันการรักษาที่ได้ผลดีและเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ทั่วโลกคือการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือ continuous positive airway pressure ที่เรียกย่อๆว่าเครื่อง CPAP เครื่อง CPAP ทำงานโดย เครื่องจะมีมอเตอร์พ่นอากาศผ่านท่อลมและหน้ากาก (mask) ผ่านจมูกหรือปาก เข้าไปในโพรงอากาศบริเวณลำคอของผู้ที่ใช้งาน มีวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มความดันเพื่อเปิดขยายช่องลมที่ลำคอ ป้องกันไม่ให้ช่องลมแฟบตัวลงขณะที่หลับสนิท เป็นการแก้ไขภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับที่ต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง
สารบัญ
- ทำไมต้องใช้เครื่อง CPAP
- การเลือกหน้ากาก CPAP ที่เหมาะสม มีความสำคัญอย่างไร
- หน้ากาก CPAP มีกี่ประเภท
- ข้อดีของหน้ากากชนิดครอบจมูกและปาก (oronasal mask)
- ข้อดีของหน้ากากชนิดครอบจมูก (nasal mask)
- ข้อดีของหน้ากากชนิดใต้จมูก (nasal pillow mask)
- หน้ากากชนิดอื่นๆ (full face mask และ oral interfaces)
- เทคนิคการเลือกหน้ากาก CPAP ให้เหมาะสมกับท่านอน
- Check list การเลือกหน้ากากที่เหมาะกับตัวคุณ
- บทสรุป
การเลือกหน้ากาก CPAP ที่เหมาะสม มีความสำคัญอย่างไร
หลังจากที่เข้ารับการตรวจการนอนหลับ (sleep test) และได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ เมื่อแพทย์แนะนำการรักษาด้วยการใช้เครื่อง CPAP ขั้นตอนที่สำคัญในลำดับต่อไป คือการตั้งค่าเครื่อง CPAP ให้ถูกต้องกับผลการตรวจการนอนหลับ รวมทั้งเลือกหน้ากากให้เหมาะกับรูปใบหน้าและสรีระ ในบางท่านแพทย์อาจจะเลือกชนิดของหน้ากากที่เหมาะสมกับผลที่ได้จากการตรวจการนอนหลับให้เลย แต่ในคนส่วนใหญ่ เราจะมีโอกาสเลือกชนิดของหน้ากากให้เข้าได้กับรูปใบหน้าหรือท่านอนได้ เพื่อให้ใส่หน้ากากนอนได้สบายและลมไม่รั่วออกจากหน้ากากขณะนอนหลับ
อย่างไรก็ตาม เราควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการเลือกหน้ากากที่เหมาะสม แพทย์จะแนะนำให้นำเครื่อง CPAP พร้อมหน้ากากไปทดลองนอนที่บ้าน แนะนำข้อดี ข้อเสีย ข้อควรระวัง ความแตกต่างของหน้ากากแต่ละแบบ และประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากที่ทดลองใช้เครื่อง CPAP แพทย์จะนัดติดตามการใช้งาน เพื่อตรวจสอบค่าสถิติต่างๆของการนอนที่เครื่อง CPAP บันทึกไว้ เช่น ค่าการหยุดหายใจขณะหลับ (AHI) และค่าการรั่วหน้ากาก ปรับการตั้งค่าเครื่อง CPAP หรือปรับเปลี่ยนหน้ากากให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้เรานอนหลับได้อย่างสบายและได้รับประสิทธิภาพจากการรักษาด้วยเครื่อง CPAP สูงที่สุด
หน้ากาก CPAP มีกี่ประเภท
หน้ากาก CPAP ส่วนใหญ่แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
- หน้ากากแบบเต็มใบหน้า (oronasal mask) มีขนาดใหญ่ โดยมีกรอบพลาสติกและซิลิโคนครอบทั้งบริเวณจมูกและปาก
- หน้ากากแบบครอบจมูก (nasal mask) ครอบเฉพาะบริเวณจมูก โดยมีกรอบพลาสติกและซิลิโคนครอบบริเวณจมูกและเหนือริมฝีปากบน
- หน้ากากแบบใต้จมูก (nasal pillow mask) หน้ากากชนิดนี้จะวางตัวอยู่บริเวณใต้จมูก เหนือริมฝีปากบน และไม่มีกรอบพลาสติกและซิลิโคนไปกดที่สันจมูก
ข้อสำคัญในการเลือกหน้ากากคือ เมื่อใส่หน้ากากนอนแล้วลมต้องไม่รั่วและผ้ายืดหรืออุปกรณ์ที่ยึดตรึง CPAP (head gear) เข้ากับศีรษะใส่ได้สบายไม่กดบนใบหน้าและศีรษะมากเกิดไป

ข้อดีของหน้ากากชนิดครอบจมูกและปาก (oronasal mask)
หน้ากากชนิดนี้เหมาะสำหรับคนที่มักหายใจทางปากขณะที่นอนหลับ มีลมรั่วออกทางปากจากการใส่เครื่อง CPAP นอกจากนั้นหน้ากากยังเหมาะกับคนไว้หนวดและเครา เนื่องจากหากใส่หน้ากากชนิดนี้ทำให้โอกาสลมรั่วน้อยกว่าหน้ากากชนิดที่ครอบจมูก (nasal mark หรือ under pillow mask) เพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม หน้ากากชนิดนี้จะมีขนาดใหญ่ และใส่สบายน้อยกว่าหน้ากากชนิดอื่น ทำให้ผู้สวมใส่อาจเผลอถอดหน้ากากขณะที่นอนหลับไปแล้ว หรือไม่อยากใส่เครื่อง CPAP

ข้อดีของหน้ากากชนิดครอบจมูก (nasal mask)
หน้ากากชนิดนี้ครอบเฉพาะบริเวณจมูก มีผู้นิยมใช้มากที่สุด เพราะ
- ใส่สบาย
- โอกาสเกิดลมรั่วน้อย
- ใช้งานได้ทนทาน
- ราคาประหยัด
- ต้องการใช้แรงดันลมจากเครื่อง CPAP น้อยกว่า

ข้อดีของหน้ากากชนิดใต้จมูก (nasal pillow mask)
หน้ากากชนิดนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบมีอะไรมาครอบที่จมูก หรือมีซิลิโคนกดบริเวณสันจมูกและหน้าผาก มีข้อดีหลายอย่าง ได้แก่
- เหมาะสำหรับคนที่ชอบทำกิจกรรมบนเตียงก่อนนอน เช่น อ่านหนังสือ เล่นคอมพิวเตอร์ หรือดูหนัง เพราะไม่มีหน้าการครอบจมูกมากีดขวางสายตาและการมองเห็น
- เหมาะสำหรับคนที่กลัวที่แคบ ไม่อยากมีอะไรมาครอบจมูก
- ใส่และถอดง่าย
- เหมาะสำหรับคนที่ชอบนอนตะแคงหรือนอนคว่ำ
หน้ากากชนิดใต้จมูกจะมี 2 แบบ คือ แบบที่วางไว้ใต้จมูกเฉยๆ กับแบบที่มีจุกใส่เข้าไปในรูจมูกด้วย ซึ่งแบบที่มีจุกใส่เข้าไปในรูจมูกจะทำให้ลมเข้าได้ดีกว่า และโอกาสที่จะเกิดลมรั่วได้น้อยกว่า แต่ข้อควรระวังคือ หน้ากากชนิดนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่เนื้อจมูกมากพอ ปลายจมูกไม่เชิด เพราะหน้ากากชนิดนี้ต้องอาศัยส่วนล่างของจมูกในการยึดเกาะ หากเนื้อจมูกไม่มากพอจะทำให้ลมรั่วได้ง่าย เราจึงแนะนำให้ทดลองหน้ากากชนิดใต้จมูก (nasal pillow) ก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะหน้ากากชนิดนี้มีโอกาสมีลมรั่วได้ง่ายกว่าหน้ากากชนิดอื่น

หน้ากากชนิดอื่นๆ
หน้ากากชนิดอื่นๆ ที่ใช้น้อย ได้แก่
- หน้ากากที่ใส่เต็มใบหน้า (full-face mask) ซึ่งคลุมตั้งแต่หน้าผากมาถึงคาง
- หน้ากากที่ครอบปากเพียงอย่างเดียว (oral interfaces) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาที่จมูก ไม่อยากให้มีแรงลมผ่านบริเวณจมูก
การเลือกหน้ากาก CPAP ให้เหมาะสมกับท่านอน
หน้ากาก CPAP ที่กล่าวมาทั้ง 3 ประเภท สามารถใช้งานได้ดีในท่านอนหงาย และนอนตะแคง เพราะหน้ากากทุกประเภทมีสายรัดบริเวณศีรษะที่สามารถปรับให้กระชับ ทำให้โอกาสที่จะเกิดลมรั่วได้น้อย สายรัดศีรษะหรือที่เรียกว่า head gear มีหลายแบบ คุณสามารถเลือกแบบที่ชอบ และใส่กระชับ ไม่มีแรงที่กดลงบนใบหน้า จมูก หรือ หน้าผากมากจนเกินไป
หน้ากากที่เหมาะสมสำหรับท่านอนคว่ำ คือหน้ากากแบบใต้จมูก (nasal pillow mask) เพราะหน้ากากชนิดนี้ไม่มีกรอบพลาสติกบริเวณรอบจมูกและที่หน้าผาก ทำให้ไม่มีการกดทับบริเวณใบหน้า สามารถใส่นอนคว่ำได้

Check list การเลือกหน้ากากที่เหมาะกับตัวคุณ
- ท่านอนที่คุณนอนประจำ (นอนหงาย นอนตะแคง นอนคว่ำ)
- ชอบหายใจทางจมูกหรือปาก
- ไว้หนวดและเคราหรือไม่
- ชอบทำกิจกรรมบนเตียงก่อนนอน เช่น อ่านหนังสือ เล่นคอมพิวเตอร์ หรือดูหนัง หรือไม่
- กลัวที่แคบ ไม่อยากมีหน้ากากมาครอบบริเวณจมูกและปากหรือไม่
บทสรุป
คุณอาจจะรู้สึกสับสนในการเลือกหน้ากากในช่วงแรก เป้าหมายสำคัญของการเลือกหน้ากาก คือมีหน้ากากที่ใส่สบาย ไม่มีลมรั่ว และเข้าได้กับความเป็นตัวคุณ กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์ หวังว่าบทความนี้ให้รายละเอียดในการเลือกหน้ากากที่เหมาะสมได้พอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเลือกซื้อหน้ากาก ควรจะทดลองใส่นอนจริงๆ 2-3 คืนก่อนตัดสินใจ ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่อง CPAP เพื่อให้คำแนะนำ และตรวจติดตามค่าการใช้เครื่อง CPAP ปรับหน้ากากให้เหมาะสม ตามผลที่อ่านได้จากเครื่อง เพียงแค่นี้คุณจะได้ใส่ CPAP นอนหลับได้สบายและมีประสิทธิภาพจากการใช้งานสูงที่สุด