ระดับความดันของเครื่อง CPAP เลือกปรับอย่างไรให้เหมาะสม?

เครื่อง CPAP
เครื่อง CPAP

จะรู้ได้อย่างไร ว่าความดันของเครื่อง CPAP สูง หรือต่ำเกินไป

เครื่อง CPAP เป็นอุปกรณ์เป่าความดันลมผ่านทางจมูก หรือปาก ที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้รักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงอย่างแพร่หลาย เพื่อประโยชน์ในการช่วยให้ร่างกายของผู้ที่กำลังประสบกับภาวะดังกล่าวสามารถหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอดได้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม หนึ่งในปัญหาที่สามารถพบเจอได้บ่อยในการใช้งานเครื่อง CPAP คือ ปัญหาเกี่ยวกับการตั้งค่าความดันของเครื่อง CPAP ที่ไม่เหมาะสม จนนำไปสู่การเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานได้

ในบทความนี้ กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์ จึงอยากจะขอพาผู้ใช้งานเครื่อง CPAP ทุกคนมาร่วมเจาะลึกความสำคัญของการตั้งค่าความดันของเครื่อง CPAP พร้อมสำรวจวิธีการตรวจสอบระดับความดัน และการตั้งค่าความดันของเครื่อง CPAP ให้มีความสอดคล้องกับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากที่สุด

ความสำคัญเกี่ยวกับการตั้งค่าความดันของเครื่อง CPAP

เครื่อง CPAP หลากหลายรุ่นและยี่ห้อที่มีวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดล้วนมาพร้อมด้วยระบบการทำงาน และการตั้งค่าความดันที่แตกต่างกันออกไป จนส่งผลทำให้ค่าที่สามารถบันทึกได้ และค่าแรงดันเฉลี่ยของเครื่อง CPAP แต่ละเครื่องมีความแตกต่างกันตามไปด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว การตั้งค่าระดับความดันของเครื่อง CPAP อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับแนวทางการรักษาแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Therapy) ของผู้ป่วยแต่ละราย จึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานเครื่อง CPAP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถช่วยให้ทำให้การหายใจในขณะใช้งานเครื่อง CPAP ของผู้ที่กำลังประสบกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นไปด้วยความสบาย และปลอดภัยมากที่สุดอีกด้วย

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การตั้งค่าความดันของเครื่อง CPAP จะเป็นขั้นตอนที่จะต้องเกิดขึ้นภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากการตั้งค่าความดันของเครื่อง CPAP ด้วยตนเองที่บ้านอาจส่งผลทำให้เกิดการปรับระดับแรงดันไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งที่มากหรือน้อยจนเกินไป อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดการผ่อนลมที่ไม่เหมาะสม จนส่งผลทำให้ผู้ที่กำลังประสบกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีอาการแย่ลง หรืออาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง อาทิ การคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ การมีระดับออกซิเจนในเลือดที่ไม่เพียงพอ หรือการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากส่วนกลางที่เกิดจากการรักษา (Treatment-Emergent Central Sleep Apnea : TECSA) จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สำรวจปัจจัยที่ส่งผลต่อการตั้งค่าความดันของเครื่อง CPAP

การตั้งค่าความดันของเครื่อง CPAP ให้มีความเหมาะสมกับอาการ และระดับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับของผู้ป่วยแต่ละคน จะต้องอาศัยการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการนำเอาปัจจัยต่าง ๆ มาใช้ในการวิเคราะห์ และพิจารณาร่วมกัน เพื่อการกำหนดการตั้งค่าความดันของเครื่อง CPAP ได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด ดังนี้

  • ปัจจัยทางกายวิภาค : โดยผู้ที่มีกะโหลกศีรษะที่มีลักษณะเฉพาะตัว รวมถึงมีกรามล่างเล็ก มีลิ้น หรือต่อมทอนซิลขนาดใหญ่ หรือมีเส้นรอบวงคอมากกว่า 17 นิ้ว จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่มากกว่าคนทั่วไป และอาจต้องใช้ระดับความดันของเครื่อง CPAP ที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
  • ภาวะผนังกั้นช่องจมูกคด : การมีภาวะผนังกั้นช่องจมูกคดจะทำให้ร่างกายถูกจำกัดการไหลเวียนของอากาศผ่านทางจมูก จนส่งผลทำให้ต้องใช้ระดับความดันของเครื่อง CPAP ที่สูงขึ้นเพื่อเป็นการช่วยให้ทางเดินหายใจส่วนบนเปิดรับอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • ค่า BMI : ผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกาย หรือค่า BMI สูง จะมีแนวโน้มที่จะมีเนื้อเยื่อในลำคอส่วนเกินที่สามารถจำกัดการไหลเวียนของอากาศไปสู่ปอดได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องใช้ระดับความดันของเครื่อง CPAP ที่สูงขึ้น แต่ถ้าหากน้ำหนักของผู้ป่วยลดลงมาก็จำเป็นที่จะต้องปรับลดระดับความดันของเครื่อง CPAP ด้วยเช่นกัน
  • ภูมิแพ้ทางจมูก : การเกิดอาการภูมิแพ้จะทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก และทำให้การไหลเวียนของอากาศ และออกซิเจนไปสู่ปอดสู่ปอดลดน้อยลงจนทำให้ต้องใช้ระดับความดันของเครื่อง CPAP ที่สูงมากขึ้น
  • ตำแหน่งในการนอนหลับ : โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่นอนหงายจะต้องใช้ระดับความดันของเครื่อง CPAP ที่สูงกว่าผู้ที่นอนตะแคงข้าง เนื่องจากการนอนหงายจะทำให้แรงโน้มถ่วงสามารถสร้างแรงกดทับต่อทางเดินหายใจ จนส่งผลต่อปริมาณการไหลเวียนอากาศที่ลดน้อยลงได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าความดันของเครื่อง CPAP สูงหรือต่ำเกินไป

  1. เครื่อง CPAP มีระดับความดันสูงเกินไป
    ในกรณีที่เครื่อง CPAP มีระดับความดันที่สูงจนเกินไป ผู้ใช้งานเครื่อง CPAP จะสามารถสังเกตเห็นถึงความผิดปกติดังกล่าวได้จากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของตนเอง เนื่องจากระดับความดันของเครื่อง CPAP ที่สูงจนเกินไปจะทำให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกแสบร้อนในลำคอ และไม่สบายที่ภายในบริเวณปาก จมูก หรือทางเดินหายใจ โดยผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นมีการดิ้นรนเพื่อให้ตนเองสามารถหายใจออกได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจประสบกับภาวะกลืนอากาศ (Aerophagia) จนทำให้เกิดอาการท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร รู้สึกไม่สบายตัว และเรอมากเกินไปได้อีกด้วย
  2. เครื่อง CPAP มีระดับความดันต่ำเกินไป
    ในกรณีที่เครื่อง CPAP มีระดับความดันที่ต่ำจนเกินไป ผู้ที่ใช้งานเครื่อง CPAP มักจะรู้สึกถึงความไม่สบายตัวที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้งานเครื่อง CPAP ได้อย่างชัดเจน โดยผู้ป่วยบางคนอาจตื่นนอนขึ้นมาพร้อมด้วยความรู้สึกมึนศีรษะและไม่สดชื่น ในขณะที่บางคนอาจประสบกับอาการกรนหนัก รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังสำลัก ร่วมกับการมีความดันโลหิตที่สูงขึ้น โดยหากผู้ป่วยประสบกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือภาวะหายใจลำบากเนื่องจากได้รับออกซิเจนในปริมาณที่ไม่เพียงพอ มากกว่า 5 ครั้งต่อชั่วโมงขึ้นไป ก็จะหมายความว่า เครื่อง CPAP จำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับระดับความดันให้สูงขึ้น เพื่อการใช้งานเครื่อง CPAP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ผู้ที่มีเครื่อง CPAP อยู่แล้วแต่รู้สึกว่าใส่ไม่ได้ ใส่ไม่สบาย อึดอัด ตื่นกลางดึกแล้วมีแรงลมสูงมาก ไม่สามารถนอนต่อได้ หรือเคยใส่สบาย แต่ตอนนี้อายุมากขึ้น สภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเกิน 10 กิโลกรัม หรือมีโรคประจำตัวขึ้นมาใหม่ เช่น สมองขาดเลือด อัมพาต อัมพฤกษ์ ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจกำเริบ แนะนำให้พบคลินิกที่เชี่ยวชาญและมีความชำนาญในการปรับค่าความดันเครื่อง CPAP โดยคลินิกจะทำการโหลดข้อมูลที่บันทึกในเครื่อง CPAP นำมาให้แพทย์วิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้ใส่เครื่อง CPAP ไม่สบาย และปรับค่าเครื่อง CPAP โดยละเอียด (fine tuning) เพื่อให้ท่านใส่เครื่อง CPAP นอนหลับได้อย่างสบายและใช้ประสิทธิภาพของเครื่องได้ดีที่สุด

ที่ กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์ เราคือศูนย์ตรวจ และรักษาภาวะนอนกรน และการนอนหลับที่ผิดปกติ ที่พร้อมให้บริการตรวจ Sleep Test ทั้งในรูปแบบ Full sleep test (การตรวจการนอนหลับที่ศูนย์ตรวจ) และ Home sleep test (การตรวจการนอนหลับที่บ้าน) เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการพิจารณาเลือกใช้งานเครื่อง CPAP แบบครบวงจร ดำเนินการโดยแพทย์ผู้ชำนาญการคุณวุฒิ American Academy of Sleep Medicine ในสถานที่ และบรรยากาศของ sleep lab ให้แตกต่างจากสถานที่ตรวจแบบดั้งเดิม ที่ดูเป็นทางการเหมือนโรงพยาบาล โดยเน้นสร้างความรู้สึกเป็นส่วนตัว และทำให้ความรู้สึกสบายใจ เพื่อให้คุณรู้สึกเหมือนมาพักผ่อนมากกว่ามาตรวจหาโรค ให้คุณผ่อนคลายในบรรยากาศที่พักส่วนตัวที่เงียบสงบ และร่มรื่น

กรุงเทพ สลีป เซ็นเตอร์
ศูนย์ตรวจรักษาภาวะนอนกรน และนอนไม่หลับ
เพื่อให้การนอนของคุณ เป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนอย่างแท้จริง

โทรปรึกษา 064-649-1919, 02-089-8687

บทความอื่นๆ

Shopping Basket